top of page

Creative Path ออกแบบกราฟิกทุกประเภทสำหรับธุรกิจของคุณ ไม่ว่าจะเพื่อการตลาดออนไลน์ กิจกรรมทางสังคม และอื่นๆ

'A Christmas Carol (อาถรรพ์วันคริสต์มาส)' จากวรรณกรรมตะวันตก ที่จะทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์แล


http://en.wikipedia.org/wiki/A_Christmas_Carol

เนื่องในช่วงเวลาของคริสต์มาส วันที่ทั้งชาวคริสต์ รวมถึงชนชาติต่างๆ ทั่วโลก มีการเฉลิงฉลองในเทศกาลแห่งความสุขนี้ เต็มไปด้วยแสงสีที่สดใสตามถนนหนทางและสถานที่สำคัญต่างๆ ดังนั้น เราลองย้อนกลับไปดูวันคริสต์มาสในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ หนึ่งในต้นแบบวัฒนธรรมวันคริสต์มาสจากวรรณกรรมตะวันตกเรื่องคลาสสิก อย่าง 'A Christmas Carol (อาถรรพ์วันคริสต์มาส)' ที่จะทำให้เข้าใจวัฒนธรรมเทศกาลแห่งวันคริสต์มาส รวมถึงประวัติศาสตร์และความเป็นอังกฤษมากขึ้นเช่นกัน

ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีวรรณกรรมประเภทหนึ่งเริ่มปรากฏครั้งแรกในประวัติวรรณคดีอังกฤษ คือ นวนิยาย (Novel) โดยเขียนสะท้อนถึงชีวิตของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างมากขึ้นกว่าชนชั้นขุนนางดังในช่วงเวลาก่อนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 เนื่องจากทั้งสองชนชั้นนี้มีจำนวนประชากรมากขึ้นในยุโรป ต่อมา เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 19 การเขียนวรรณกรรมเริ่มเขียนด้วยจินตนาการของผู้เขียน มีลักษณะสนับสนุนเสรีภาพ ต่อต้านการกดขี่ หรือที่เรียกว่า สมัย “โรแมนติค” (ค.ศ.1800 - 1837) ซึ่งอาจเกิดจากแนวคิดในการปฏิวัติอเมริกา ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 และการปฏิวัติฝรั่งเศส ใน ค.ศ.1789 ก็เป็นได้ นอกจากนี้ ยังเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในอังกฤษ ผู้เป็นเจ้าอาณานิคมหลายแห่งบนโลกเวลานั้น การปฏิวัติดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องมาจากการค้นพบพลังงานถ่านหินที่มีอย่างล้นเหลือกับเครื่องจักรไอน้ำ และอื่นๆ อันช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งชนชั้นกลางมีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมอุตสาหกรรมในการสนับสนุนเศรษฐกิจ บ้างก็เป็นเจ้าของกิจการอุตสาหกรรม และเจ้าของธุรกิจส่วนตัวที่ได้รับการสนับสนุนจากระบบอุตสาหกรรม แต่กลับสร้างความเดือดร้อนให้กับชนชั้นกรรมาชีพ ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบตัวใครตัวมันดังทฤษฎีของ Adam Smith ที่แถลงไว้ในหนังสือ The Wealth of Nation

ภาพวาดล้อเลียนการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ที่มา: http://industrialchristmascarol.blogspot.com)

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือ พัฒนาการของการเขียนวรรณกรรมผ่านช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งจะปรากฏในวรรณกรรมในสมัยพระราชินีวิกตอเรีย (ค.ศ.1837 - 1901) แห่งสหราชอาณาจักร โดยมีนักเขียนคนสำคัญของอังกฤษที่เขียนสะท้อนสภาพของสังคมไว้หลายแง่มุม คือ ชาลส์ ดิกเกนส์ (Charlws Dickens) ซึ่งเขาได้เขียนเรื่อง 'A Christmas Carol' อันเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตชนชั้นกลางระดับต่างๆ จนถึงชนชั้นล่างสุดของสังคมอังกฤษ รวมถึงความเห็นแก่ตัวและความมีน้ำใจของชนชั้นกลางระดับสูงอีกด้วย ดังนั้น วรรณกรรมเรื่อง A Christmas Carol จึงเป็นวรรณกรรมเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ที่สำคัญเรื่องหนึ่งของยุโรปที่สะท้อนสังคมไว้ต่อไป

1. ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ A Christmas Carol

  • ผู้เขียน คือ ชาลส์ ดิกเกนส์ เขาเป็นคนหนึ่งในผู้ผลิตงานวรรณกรรม รวมทั้งงานเขียนเพื่อส่งเสริมการต่อต้านความชั่วร้ายในสังคมสมัยสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียออกมาอย่างสม่ำเสมอ ดิกเกนส์เริ่มงานวรรณกรรมด้วยการเขียนลงหนังสือพิมพ์รายเดือน โดยเริ่มด้วยเรื่อง โอลิเวอร์ ทวิสต์ (ค.ศ.1837-1839) นิโคลาส นิคเกิลบี (ค.ศ.1838-1839) และเรื่อง ดิโอลเคียวริโอซิตีชอพ (ค.ศ.2840-2841) หลังจากนั้น ดิกเกนส์ได้ไปใช้ชีวิตส่วนใหญ่ของเขาในต่างแดน งานในระยะหลังของเขา ได้แก่ เดวิด คอบเปอร์ฟิลด์ (ค.ศ.1849-1850) บลีกเฮาส์ (ค.ศ.1852-1853) เรื่องของสองนคร (ค.ศ.1859) ความคาดหวังอันยิ่งใหญ่ (Great Expectation - ค.ศ.1860-1861) และงานเขียนที่ยังไม่จบเรื่อง ความลึกลับของเอดวิน ดรูด (The Mystery of Edwin Drood - ค.ศ.1870) นอกจากนี้ ดิกเกนส์ ยังเป็นนักประพันธ์คนโปรดที่สุดของชนชั้นกลางระดับสูง จากวรรณกรรมอีกหลายเรื่องของเขา โดยเฉพาะ A Christmas Carol

ชาลส์ ดิกเกนส์ ใน ค.ศ.1858 (ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/Charles_Dickens)

  • ลักษณะการเขียน ชาลส์ ดิกเกนส์ เป็นผู้ยึดแนวทางหลักๆ ได้แก่ แนวทางเสรี, แนวทางประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และแนวทางเพื่อผลบุญมากกว่าเพื่อเงินทอง ดิกเกนส์ เป็นนักประพันธ์ที่เขียนเพื่อตอบสนองรสนิยมของผู้อ่านและเนื้อเรื่องนั้น ผสมผสานไปด้วยแนวคิดโรแมนติค (Romanticism) และสัจนิยม (Realism) อันเป็นการรวมจินตนาการและความเป็นจริงของชีวิตและสังคมเข้าไปในวรรณกรรม รวมถึงมีการสอดแทรกหลักศีลธรรมในเนื้อเรื่อง พร้อมความบันเทิง ซึ่งทั้งหมดนี้ ปรากฏอยู่ใน A Christmas Carol ด้วยเช่นกัน

  • เรื่องย่อ มีตัวละครหลัก คือ 'เอเบนีเซอร์ สครูจ' เป็นผู้เดินเรื่อง เขาเกิดใน ค.ศ.1786 และเติบโตในพื้นที่ชนบท ต่อมา เขาได้รับการฝึกงานในด้านธุรกิจในเมือง จนเขาสามารถเปิดบริษัทเกี่ยวกับการเงินร่วมกับหุ้นส่วนของเขา 'เจค็อบ มาร์ลี่ย์' ในกรุงลอนดอน ทั้งสองเป็นนักธุรกิจที่เก่งในลอนดอน มีฐานะที่ร่ำรวย เปรียบได้กับชนชั้นกลางระดับสูง แต่พวกเขากลับเห็นแก่ตัวและไม่มีน้ำใจให้กับใครแม้แต่น้อย เห็นคุณค่าของเงินมากกว่าทุกสิ่งในชีวิต (ลักษณะนิสัยของชนชั้นกลางบางกลุ่ม) เมื่อมาร์ลี่ย์เสียชีวิต สครูจจึงบริหารจัดการธุรกิจต่อไป โดยมีเสมียนหนึ่งคนค่อยช่วยงาน พอถึงคืนก่อนวันคริสต์มาสในปี ค.ศ.1843 สครูจพบกับวิญญาณของมาร์ลี่ย์ หุ้นส่วนเก่าของเขา และตั้งแต่ตีหนึ่งของวันคริสต์มาส สครูจได้พบกับผีหรือวิญญาณคริสต์มาส 3 ตน ซึ่งได้นำพาเขาสู่ห้วงเวลาแห่งความจริงทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่อาจเกิดขึ้นกับเขา ซึ่งเขาไม่เคยรู้มาก่อน ทำให้สครูจได้เห็นความโหดร้ายและสยดสยองในสิ่งที่เขาเคยทำไว้ เขาจึงสามารถเปิดใจตัวเองเพื่อแก้ไขในสิ่งที่ตนเองเคยกระทำมาอย่างไร้คุณธรรมตลอดหลายปี และนับจากในเช้าวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.1843 สครูจเปลี่ยนแปลงตัวเองในฐานะชนชั้นกลางระดับสูงที่ไม่ยอมเสียเปรียบและไม่ยอมแบ่งปันอะไรให้กับใคร กลายเป็นคนที่ใจกว้างต่อผู้อื่น เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญกับสครูจมากที่สุดอีกต่อไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของเขากลับกลายเป็นความสุขของผู้คนรอบข้างและตัวเขาเองในวัยชรา

2. สังคมอังกฤษสมัยพระราชินีวิกตอเรีย

สังคมอังกฤษในสมัยพระราชินีวิกตอเรีย (ค.ศ.1837-1901) เป็นช่วงเวลาที่ระบบทุนนิยมและอุตสาหกรรมกำลังรุ่งเรืองอย่างมาก บทบาทของขุนนางลดน้อยลง เนื่องจากในเวลานั้นชนชั้นกลางมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงการบริหารการปกครองด้วย อย่างไรก็ตาม ชนชั้นกลางนั้นก็สร้างปัญหาแก่ชนชั้นล่างด้วย ซึ่งสภาพสังคมในสมัยพระราชินีวิกตอเรียนั้นมักปรากฏอยู่ในงานเขียนของชาลส์ ดิกเกนส์ ไม่ว่าจะเป็น Oliver Twist หรือ Hard Times และโดยเฉพาะ A Christmas Carol ดังต่อไปนี้

2.1 ศาสนา

ผู้คนส่วนใหญ่ในกรุงลอนดอนนั้น นับถือศาสนาคริสต์ ดังจะเห็นได้จากการไปเข้าโบสถ์ของชาวเมืองลอนดอนในทุกวันอาทิตย์ อันเป็นศูนย์กลางทางศาสนาคริสต์ของชุมชน และปรากฏคำอวยพรต่างๆ ทางศาสนาคริสต์มากมาย โดยเฉพาะ "ขอพระเจ้าคุ้มครอง…ทุกๆ คน" ซึ่งเป็นการอ้างถึงพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาคริสต์ที่ปรากฏในงานเขียนเรื่อง A Christmas Carol อยู่หลายตอน โดยเอเบนีเซอร์ สครูจ อาจลืมแนวทางของศาสนาไปแล้วในช่วงต้นของเรื่อง

2.2 ชนชั้นทางสังคม (อังกฤษ)

  • ชนชั้นขุนนาง ได้แก่ เหล่าเชื้อพระวงศ์และขุนนาง เป็นต้น

  • ชนชั้นกลาง เกิดจากครอบครัวที่เป็นชนชั้นกลางอยู่ก่อนแล้วหรือเกิดจากชนชั้นล่างก็ได้ เพราะชนชั้นกลางนั้นต่างจากชนชั้นขุนนางที่มีการสืบต่อกันรุ่นสู่รุ่น แต่ชนชั้นกลางนั้นใช้ความสามารถในการสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง อันเป็นการเปิดโอกาสให้คนทุกชนชั้นได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ตามความสามารถและการศึกษาของตน ระบบดังกล่าวนี้ เริ่มเจริญอย่างมากในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก่อให้เกิดชนชั้นกลางมากขึ้นในสังคม ซึ่งชนชั้นกลางประกอบด้วยชนชั้นกลางระดับล่าง และชนชั้นกลางระดับสูง กล่าวคือ ชนชั้นกลางระดับล่างนั้นมีอาชีพเป็น ช่างฝีมือ, พ่อค้า, ลูกจ้าง และเสมียน เป็นต้น ซึ่งเป็น “ผู้ให้บริการ” แก่ชนชั้นกลางระดับสูงและชนชั้นขุนนาง ส่วนชนชั้นกลางระดับสูง ได้แก่ พวกนักอุตสาหกรรม, นายทุน, นายธนาคาร, นักธุรกิจที่มั่งคั่ง, บรรณาธิการ, พ่อค้าที่ร่ำรวย และเจ้าของโรงงานต่างๆ เป็นต้น ซึ่งชนชั้นกลางระดับสูงบางส่วนก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารประเทศด้วย

  • ชนชั้นล่าง หรือ ชนชั้นกรรมาชีพ คือ ชนชั้นที่อยู่ต่ำสุดของสังคม ที่คอยให้บริการแก่ชนชั้นที่สูงกว่า แต่ชนชั้นนี้บางส่วนก็เป็นปัญหาแก่สังคมด้วยเช่นกัน เพราะเมื่ออุตสาหกรรมและระบบทุนนิยมเจริญมากขึ้น ทำให้ชนชั้นกลางมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่สำหรับชนชั้นล่างนั้นกลับถูกละเลย ทั้งยังยากจนมากกว่าเก่า จึงเกิดมีกลุ่มหัวขโมย เด็กกำพร้า คนขอทาน และโสเภณี เพิ่มมากขึ้นในสังคมสมัยพระราชินีวิกตอเรีย

2.3 ปัญาในสังคม

ชนชั้นกลางระดับสูงบางคนพึงพอใจต่ออภิสิทธิ์และความมั่งคั่งของพวกเขา และจำนวนไม่น้อยก็ปฏิเสธจะให้ความช่วยเหลือสังคมและผู้ด้อยโอกาสกว่า ปัญหาของสังคมที่ได้กล่าวไปนั้น พบมากขึ้นไปพร้อมๆ กับความเจริญด้านอุตสาหกรรมและระบบทุนนิยม อันเป็นปัญหาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมของชนชั้นกลางและความยากจนของชนชั้นล่างทั้งสิ้น นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งโรงทาน สำหรับช่วยเหลือในเรื่องความอดอยากยากแค้นของเหล่าคนจน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของใครต่อใครดีขึ้นได้มากกว่าที่พวกเขาเป็นอยู่ อีกทั้งยังมีคุก โรงเลี้ยงเด็กกำพร้า และอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องการที่จะไปมีชีวิตอยู่ในสถานที่เหล่านั้น

2.4 สภาพเมืองและที่อยู่ของผู้คน

เมืองตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 และในสมัยพระราชินีวิกตอเรียนั้น เปลี่ยนแปลงจากยุคกลางในสังคมของระบบฟิวดัลอย่างมาก เนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมตั้งแต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และระบบทุนนิยมทำให้ประชากรมีอิสระมากขึ้นจากขุนนางในระบบฟิวดัล นอกจากนี้ ประชากรทั้งในเขตรอบนอกของเมืองและในชนบทจำนวนมากต่างอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่ เช่น ลอนดอน เป็นต้น เพื่อหางานทำภายใต้ระบบทุนนิยมและอุตสาหกรรม ทำให้ที่อยู่ของประชากรในเมือง เป็นตึกหลายชั้นสามารถรองรับจำนวนคนได้เพิ่มขึ้นและมากกว่าบ้านที่ใช้พื้นที่เท่ากัน อีกทั้งถนนในเมืองก็แข็งแรงมากขึ้นเพื่อรับกับจำนวนประชากร สภาพเมืองส่วนใหญ่เป็นตึกทั้งบ้านห้องเช่าและสถานที่ทำงาน ถ้าเป็นบ้าน ส่วนใหญ่ก็มักเป็นบ้านสองชั้นขึ้นไป มีการสร้างถนนเพิ่มมากขึ้นทั้งในเมืองและเขตรอบเมือง เพื่อรองรับประชากร จนทำให้มีการขยายตัวของเมืองออกไปอย่างกว้างขวาง กินพื้นที่ชนบทเดิมที่อยู่รอบเมือง

แผนที่กรุงลอนดอน ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ที่มา: http://www.ahrtp.com/ancienthistory/MapsOnline/BritainMapsOnline/pages/London19thcmapfullsize.html)

2.5 วันคริสต์มาส

แนวคิดที่ว่า 'คริสต์มาส คือ เวลาแห่งการแสดงน้ำใจช่วยเหลือกัน อาจเป็นเวลาเดียวที่ผู้คนใจกว้างเสมือนทุกคนเป็นมิตรต่อกันไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่ใช่การแยกกันอยู่แบบตัวใครตัวมัน' (เป็นการค้านกับทฤษฎีของ Adam Smith) แม้ว่าวันคริสต์มาสจะไม่ทำให้ใครต่อใครมีรายได้หรือได้เงินทองมากมาย แต่ผู้คนต่างก็ยังเชื่อว่าวันคริสต์มาสในแต่ละปีนั้นเป็นสิ่งดีกับทุกคน และพระเจ้าจะคุ้มครองสำหรับการกระทำดีของผู้คนในวันคริสต์มาส อีกทั้งความคิดดังกล่าวนี้ ยังปรากฏอยู่มากใน A Christmas Carol

 

พระเจ้าจะคุ้มครองสำหรับการกระทำดีของผู้คน

 
ภาพวันคริสต์มาสของ เอเบนีเซอร์ สครูจ ใน A Christmas Carol (ที่มา: http://www.eventbrite.com)

สรุป

A Christmas Carol ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ.1843 สำหรับให้คนทั่วไปในสังคมได้อ่าน โดยวรรณกรรมเรื่องนี้ได้สะท้อนสภาพสังคมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และในรัชสมัยพระราชินีวิกตอเรียแห่งอังกฤษ อันเป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมและระบบทุนนิยมกำลังรุ่งเรืองจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งทำให้สังคมเมืองใหญ่ขึ้น เพราะประชากรจากนอกเมืองต่างเดินทางเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในเมือง จึงทำให้สิ่งก่อสร้างต่างๆ ขยายตัวออกไปและมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นตึกหลายชั้นสำหรับรองรับผู้คนที่เพิ่มขึ้นในเมืองพร้อมกับถนน นอกจากนี้ วรรณกรรมเรื่องนี้ยังทำให้ทราบว่าผู้คนในสมัยนั้น ถึงแม้จะผ่านการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมมาแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงนับถือศาสนาอยู่ นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นคนในทุกชนชั้นที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องของชนชั้นกลาง อันเป็นกลุ่มที่มีส่วนอย่างมากในการพัฒนาอุตสาหกรรมและระบบทุนนิยมในยุโรป เมื่อชนชั้นกลางมีบทบาทมากขึ้นในสังคม เป็นผลให้เกิดการเหลื่อมล้ำกันทางเศรษฐกิจและสังคม จนสร้างความเดือดร้อนในด้านการเงินและวิถีชีวิตให้กับชนชั้นกรรมาชีพ อันเป็นปัญหาของสังคมที่พบมากขึ้น จนทำให้มีคุก โรงเลี้ยงเด็กกำพร้า และโรงทานเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตของชนชั้นกรรมาชีพเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ชนชั้นกลางก็ยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและมั่นคงยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

และเมื่อ A Christmas Carol ถูกตีพิมพ์สู่สังคม ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมอันดีที่เสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่านของผู้คน และมีส่วนช่วยให้การเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส (และวันสำคัญอื่นๆ) กับครอบครัว เพื่อน และคนรัก เป็นกิจกรรมที่ทุกคนนิยมสร้างจิตวิญญาณของเทศกาลคริสต์มาส (Christmas Spirit) เช่นเดียวกับที่พระราชินีวิกตอเรียทรงทำกิจกรรมฉลองวันคริสต์มาสกับเพียงเฉพาะหมู่สมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นที่นิยมในราชสำนักอังกฤษอยู่ก่อนแล้ว จากนั้นก็เริ่มแพร่หลายไปทั่วอังกฤษ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ A Christmas Carol ยังเป็นวรรณกรรมที่กระตุ้นให้ทุกคนยึดมั่นในคุณธรรม ศีลธรรม และความมีเกียรติมากขึ้น จนบางครั้งมีการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสังคมจนในที่สุดรัฐบาลก็ดำเนินการแก้ไขและออกกฎหมายต่างๆ ที่ให้ความเสมอภาคและช่วยเหลือผู้ยากไร้ เช่น ในคริสต์ทศวรรษ 1830 มีการออกพระราชบัญญัติปฏิรูปโรงงานหลายฉบับ เพื่อแก้ปัญหาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมและการตักตวงประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะ 'The New Poor Law' เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นใน ค.ศ.1834 ซึ่งมีการอ้างอิงตามในเรื่องราว A Christmas Carol ฯลฯ

ฉะนั้น นอกจากการเฉลิมฉลองในวันคริสต์มาสแล้ว เราลองมาคิดกันดูเล่นๆ ดีกว่าว่า เราอยากจะทำอะไรดีๆ ในเทศกาลแห่งความสุขและวันแห่งศาสนานี้ดี.....

 

คริสต์มาส คือ เวลาแห่งการแสดงน้ำใจช่วยเหลือกัน

อาจเป็นเวลาเดียวที่ผู้คนใจกว้างเสมือนทุกคนเป็นมิตรต่อกันไป

จนวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่ใช่การแยกกันอยู่แบบตัวใครตัวมัน

 
สถานที่บริเวณ Fleet Street อันเป็นสถานที่ที่ “เอเบนีเซอร์ สครูจ” เดินทางไปทำงานใน A Christmas Carol (ที่มา: http://soulfoodvancouver.blogspot.com/2011/12/christmas-carol-dickens-london.html)

อ้างอิง

  • https://en.wikipedia.org/wiki/Early_modern_Britain

  • https://www.britannica.com/event/Industrial-Revolution

  • https://en.wikipedia.org/wiki/Industrial_Revolution

  • https://www.bl.uk/georgian-britain/articles/the-industrial-revolution

  • https://www.charlesdickensinfo.com/christmas-carol

  • ชาลส์ ดิกเกนส์. A Christmas Carol ปาฏิหาริย์วันคริสต์มาส. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2555.

  • สัญชัย สุวังบุตร และอนันต์ชัย เลาหะพันธุ. ทรรปณะประวัติศาสตร์ยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2554.

  • อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. เรื่องน่ารู้ในยุโรปสมัยกลาง. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2550.

  • ธนู แก้วโอภาส. ประวัติศาสตร์ยุโรป. นนทบุรี: สุขภาพใจ, 2549.

 

About Author and Contributor

บทความแนะนำ
ประเภทบทความ
บทความล่าสุด
Follow Us
  • Facebook
  • Instagram
Services
bottom of page