top of page

Creative Path ออกแบบกราฟิกทุกประเภทสำหรับธุรกิจของคุณ ไม่ว่าจะเพื่อการตลาดออนไลน์ กิจกรรมทางสังคม และอื่นๆ

อากงผู้เป็นอมตะ (The Last Image of the Immortal Grandpa)


 

"Tell me how he died? (เล่ามา เขาตายยังไง)"

"I will tell you how he lived. (ให้เล่าว่า เขามีชีวิตอยู่ยังไง จะดีกว่า)"

หนึ่งในประโยคสนทนาจากภาพยนตร์ The Last Samurai (2003)

 

มันอาจไม่สำคัญเท่าไรนักสำหรับเหตุของการจากไปของใครสักคนที่เรารักและคิดถึง โดยเฉพาะคนในครอบครัว แต่เป็นช่วงเวลาที่เขามีชีวิตและความทรงจำที่หลงเหลืออยู่ต่างหากล่ะที่สำคัญ

ชีวิตของคนเราผูกพันและผูกโยงกับผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนเก่า คนที่เราเห็นหน้าค่าตากันทุกวัน หรือแม้แต่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

และนี่เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วขณะที่เขียน 'อากง' หรือ 'ปู่' ของผม คนที่ผมคิดมาเสมอว่า ท่านนั้นเป็น 'อมตะ' จะไม่หายจากผมไปไหน เพราะเท่าที่ผมจำได้ อากงดูเป็นคนแข็งแรง คล่องแคล่ว แถมไม่เคยแสดงความอ่อนแอออกมา แม้ในคืนวันที่อากงจากไป อากงยังเดินไปเดินมา ยืนกวาดพื้นหน้าบ้าน คุยกับคนข้างบ้านอย่างเป็นปกติ แต่ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ในปี 2011 ขณะที่ผมซ้อมบูมกับเพื่อนๆ ที่คณะตอนปี 1 ผมถึงได้เข้าใจว่า ชีวิตอมตะนั้น มันคงมีอยู่แค่ในหนังจีนที่สร้างตามตำนานจีนเมื่อกว่าหลายพันปีที่แล้ว แต่มันกลับเป็นความธรรมดาของชีวิตคนเราแบบในหนังเรื่อง 'Die Tomorrow' มากกว่า ซึ่งนั่นคือการสูญเสียครั้งแรกของครอบครัวในช่วงชีวิตผม

ครอบครัวผม เราต่างเสียใจกันมากเช่นเดียวกับการสูญเสียของครอบครัวอื่น อากงกลายเป็นส่วนหนึ่งในบรรพชนของตระกูลไปแล้ว แต่กลับไม่ได้มีชีวิตเป็นอมตะอย่างที่ผมคิดเอาไว้ จะไปหา 'ยาอายุวัฒนะ' มาตอนนี้ก็คงไม่ทัน…..

งานประวัติตระกูล

ไม่กี่เดือนต่อมา ผมปิดเทอม แต่แม้จะเป็นปิดเทอมมหาวิทยาลัย งานก็ยังคงมีมาให้ทำไม่หยุดหย่อน โดยในครั้งนั้น อาจารย์สั่งงานนักศึกษาปี 1 ที่จะขึ้นปี 2 ทุกคนให้เขียนงานในหัวข้อ 'ประวัติตระกูล' ของตัวเอง แต่จะว่าไปงานในช่วงปิดเทอมครั้งนั้น ต่างออกไปจากครั้งอื่นๆ

ถ้าอากงยังอยู่ ผมคงมีโอกาสได้นั่งถามไถ่จากอากงไปแล้ว เพราะเท่าที่ผมรู้ เรื่องราวของครอบครัวผมในไทย หลักๆ เลย นับได้จากช่วงเวลาของอากง อากงเป็นคนที่มีบทบาทกับครอบครัวมากในการตั้งตัว (เพราะหากไล่ทำประวัติตระกูลยาวขึ้นไปก่อนช่วงชีวิตของอากง มันคงจะยาวไม่รู้จบ)

วัยเด็กและความทรงจำ

แต่ในความทรงจำของผม ตั้งแต่ผมเดินทางมาถึงโลกใบนี้ (เป็นเอเลี่ยนไง) ก็เป็นช่วงเวลาที่อากงเริ่มวางมือจากการทำงาน/กิจการต่างๆ แล้ว ลูกๆ ของอากง ซึ่งก็คือ รุ่นพ่อแม่ผมจึงเป็นผู้ที่สานต่องานเหล่านั้น

ลักษณะภายนอก อากงมักแต่งกายด้วยเสื้อผ้าง่ายๆ อย่างเสื้อกล้ามหรือเสื้อเชิ๊ตแขนสั้นสีอ่อนๆ และกางเกงสแล็คสีเทาๆ ตามสไตล์คนจีนในยุคนั้น อากงเป็นคนสงบสุขุม ดูเข้มแข็งและคล่องแคล่วอยู่เสมอ ใจเย็น แต่เมื่อร้อนขึ้นมา ใครก็เอาไม่อยู่

ในช่วงวัยเด็ก ผมโตมาด้วยการเลี้ยงดูของอากง อากงและอาม่าอาจใช้เวลาเลี้ยงผมมากยิ่งกว่าอาปาอาแหมะ (พ่อแม่) ซะอีก โดยรวมแล้ว อากงเป็นคนใจกว้าง ดูมีคุณธรรม เอาใจใส่และใจดีกับหลานๆ แต่ไม่ค่อยแสดงออกถึงความอ่อนโยน และเวลาดุ คือ น่ากลัวมาก!

แม้ว่าคนจีนส่วนใหญ่จะถูกมองว่า เป็น "คนขี้งก" ซึ่งผมไม่ปฏิเสธเรื่องนั้น เพราะตั้งแต่เล็กจนโตมา ผมก็มักถูกกดดันให้ประหยัดจากคนในครอบครัวอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะอาม่าและอาปา แต่สำหรับอากง อากงดูใจดีกว่านั้น อากงค่อนข้างตามใจกว่า แต่ไม่ใช่ว่าอากงจะไม่ประหยัด เพราะหากว่า อะไรก็ตามที่ผมไปซื้อมาทั้งที่ที่บ้านก็มีอยู่แล้ว หรือไม่จำเป็นพอ ผมก็จะโดนดุ จนถึงขั้นโดนตีด้วย

เพราะในความทรงจำ อากงดูเป็นคนใช้ชีวิตเรียบง่าย กินง่าย อยู่ง่าย ประหยัดมัธยัสถ์ นอนบนเตียงไม้แข็งๆ ไปไหนมาไหนเอง แบบเป็นคนที่ดูเข้มแข็งตลอด มีความน่ารักในบางมุมที่อยู่กับหลานๆ ซีเรียสจริงจังเวลาคุยกับลูกๆ (อันนี้ก็ไม่รู้ว่าทำไม)

และภาพที่ผมจำได้ติดตา คือ อากงมักจะนอนพักอยู่บนเปไม้เก่าๆ ที่หันหน้าไปทางหน้าบ้าน (คงเพราะจะได้เฝ้าร้านไปด้วยขณะที่เหนื่อยเพลีย) นอกจากนี้ ในความทรงจำ ก็ยังมีภาพที่อากงยืนอยู่หน้าบ้านในตอนเย็น พิงตู้ขายน้ำ ดูถนนหนทาง และกวาดหน้าบ้าน จนปิดร้านเองบ่อยๆ อีกทั้งยังมีภาพในความทรงจำอันเป็นเอกลักษณ์บนโต๊ะอาหารกลมๆ ที่ที่อากงใช้ตะเกียบคู่เดียวกับถ้วยใส่ข้าว (ไม่เคยเห็นอากงใช้จานกินข้าว) คีบกับและข้าวเข้าปากอย่างเอร็ดอร่อย แม้ว่าอาหารที่อาม่าทำจะจืดๆ รสชาติไม่จัดก็ตาม

ในทุกที่ที่อากงอยู่ หลายครั้งที่หลานๆ มักจะเล่นซนและก่อกวนให้อากงเกิดความรู้สึกรำคาญใจอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะผม ผมชอบก่อกวนอากงมาก ก่อความวุ่นวายไปทั่วบ้าน ทั้งยังชอบวิ่งไปกอดอากงด้วย ทั้งที่อากงไม่ค่อยจะแสดงออกถึงความอ่อนโยนแบบนี้ (ไม่เคยเห็นอากงกอดใครก่อนเลยสักที) ผมจึงมักถูกอากงด่าเป็นภาษาจีน (แคะ) อยู่บ่อยๆ และเป็นคำพูดที่ได้ยินติดหูมาจนทุกวันนี้ "เล่าจื้อกุ่ย!" ซึ่งอากงจะสื่อว่า "เจ้าเด็กป่าเถื่อนไม่รู้ภาษาเอ้ยยย!"

และแม้อากงจะเป็นคนที่มีคำพูดคำจาห้วน (แต่ไม่หยาบ) ทั้งในภาษาไทยและภาษาจีน ไม่ค่อยแสดงความรัก แต่อากงรักครอบครัวผ่านการกระทำของอากง ซึ่งกับผมและพี่น้อง อากงดูแลเราอย่างดี ทั้งการนอนและกินอยู่ แม้กระทั่งไปรอรับที่โรงเรียนทุกวันสมัยเด็กๆ ขณะที่อาม่าคอยดูแลบ้านและเคร่งครัดกับรายรับรายจ่ายภายในบ้านยิ่งกว่าใครๆ

ภาพและความทรงจำเหล่านี้ ปรากฏขึ้นขณะที่ผมกำลังทำงานประวัติตระกูล

มุมมองใหม่ในวันที่เก่ากว่า

แต่นอกจากความทรงจำ การทำงานในครั้งนั้น ทำให้ผมได้รับรู้ถึงภาพของอากงในมุมมองอื่นมากขึ้น (นอกจากภาพของอากงกับหลานๆ ที่บ้าน) จากการถามไถ่คนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นอาม่า ลูกๆ ของอากง (รุ่นพ่อแม่) ญาติห่างๆ และค้นเอกสารของไทยและของจีนที่เกี่ยวข้อง สถานที่ทำกิจการแรกๆ ของอากงในไทย ฯลฯ

ทั้งหมดนั้น ทำให้รู้ว่าอากงขยันและทำงานหนักมาก ประหยัด เจ้าระเบียบ และเคร่งครัดกับลูกๆ และการทำงาน เพื่อสร้างแนวทางในครอบครัว จนกิจการเติบโต แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นด้วยการไม่มีสัญชาติไทย ทำให้อากงต้องสูญเสียกิจการนั้น และต้องเริ่มต้นใหม่ด้วยความที่ไม่มีเงินหรือทรัพย์สินติดตัวเลย

และผมยังได้รู้อีกว่า ก่อนที่ผมจะเกิด ความซนของพี่ชาย (ลูกพี่ลูกน้อง) ของผมคนหนึ่ง ทำให้อากงเอาไม้เรียวไล่ตีรอบบ้าน จนวิ่งขึ้นโต๊ะอาหาร ไปจนถึงห้องเก็บของหลังบ้าน กระทั่งพี่ชายคนนั้นหนีไปหลบอยู่ในโรงจอดรถ และหลับไปหลายชั่วโมง และกลับมาให้อากงตีจนได้ หรือไม่ อากงก็หายโกรธไปเอง

ยังไงก็ตาม ผมได้รู้เรื่องราวที่น่าชื่นชมของอากงก่อนที่ผมจะเกิด แต่ความทรงจำที่ผมมีกับอากงนั้น มันก็น่ารักและมีคุณค่ากับผมไม่แพ้กัน ผมยังคิดถึงอากงเสมอ ไม่ใช่ด้วยความเสียใจหรือโศกเศร้าในตอนนี้ แต่อากงกลับกลายเป็นแรงผลักดันให้ผมในการใช้ชีวิตเสมอ (หนึ่งในไอดอล)

อีกครั้งของการเดินทางไกลในวัยเกือบแปดสิบ

มีครั้งหนึ่ง อากงเดินทางไปงานรับปริญญาของหลานสาว อาเจ้คนหนึ่งของผม แล้วเผอิญว่าไปเองคนเดียว ไม่ให้ใครไปส่ง เพราะจะเปลืองค่าใช้จ่ายมากไป โดยนัดแนะสถานที่กับลูกพี่ลูกน้องของผมให้ไปรับอากงในวันงาน แต่ในงานรับปริญญาครั้งนั้น ไม่มีใครติดต่ออากงได้ อากงไม่ได้ไปที่งาน อากงหายไปหลายวัน ทุกคนที่บ้านต่างกังวลมาก ทำใจว่าอากงคงไม่กลับมาแล้ว แต่แล้วในเช้าวันหนึ่ง อากงกลับมาเอง พร้อมขนมและของที่จะนำไปให้หลานสาวและญาติๆ กลับมาด้วย เป็นเหมือนสวรรค์ส่งอากงกลับมาหาลูกหลานอีกครั้ง

สรุป คือ ตอนไปงานรับปริญญา อากงไม่เคยใช้มือถืออยู่แล้วทั้งชีวิตและพยายามโทรตู้สาธารณะหาหลานสาว (โบราณมาก ยังโทรตู้อยู่อีก) แต่เหมือนจำเบอร์ไม่ได้มั้ง พอไปถึงงาน งานก็เสร็จไปแล้ว จากนั้น ในช่วงที่อากงหายไป คือ อากงกลับไปพักที่โรงแรม และอากงก็นั่งรถทัวร์เดินทางกลับมาเองโดยไม่ติดต่อบอกใครเลย จบ…

เอ่อ จริงๆ อากงเราเก่งนะ ตอนนั้น อากงอายุเกือบแปดสิบแล้ว อยากเดินทางไกลๆ ไปงานรับปริญญาของหลานสาว แต่กลับไม่ได้เจอกัน คิดว่าอากงคงจะเซ็งตัวเองหรือผิดหวังอยู่ไม่น้อย แต่ว่าอากงไม่ได้แสดงความรู้สึกแบบนั้นออกมาเลย คือ อากงดูเข้มแข็งนะ ขณะที่ถ้าเป็นผม คงจะทำไม่ได้เท่าที่อากงเป็น แถมยังกลับบ้านมาเองด้วย แบบเงียบๆ ไม่ติดต่อใคร เพราะคิดว่าทำอะไรเองได้ บางที ก็คิดว่า นี่อากงแกล้งลูกหลานเล่นเอาสนุกหรอ (ซึ่งก็ไม่น่าใช่)

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมากับ Die Tomorrow, Remember Yesterday

ผมจับมืออากงที่เย็นเฉียบในวันที่ผมคิดว่า 'อากงไม่เป็นอมตะแล้ว' เป็นครั้งแรก (เพราะผมเลือกจะเชื่อแบบนั้นมาตลอด) ในห้องนั้น ห้องที่อากงนอนอยู่ไม่รู้สึกตัวอะไรอีก ทุกคน รวมถึงผมต่างก็ร้องไห้ออกมา ผมเสียน้ำตาแบบนั้นเป็นครั้งแรก ต่อหน้าทุกคน ทั้งกับเพื่อนที่เรียน และกับญาติๆ

แต่พอผมได้สติ ผมยังจำได้ว่า ก่อนอากงจากไปไม่นานนัก ผมกับอากงเคยยืนคุยกันที่หน้าบ้าน อากงยังดูแข็งแรงไม่เปลี่ยนเลย ตอนนั้น ผมเรียนอยู่ปี 1 ผมบอกอากงให้ไปงานรับปริญญาผมด้วยอีกแค่ 3 ปีเอง อากงตอบกลับมาพร้อมกับยิ้มเล็กๆ ว่า "เออ... ถ้าอยู่ถึงวันนั้น... แต่ก็ไม่ได้ไปไหน..."

อากงพูดถึงความตายเป็นเหมือนเรื่องธรรมดาสามัญที่เราต่างต้องเจออยู่แล้ว เสมือนอากงพร้อมใจกับมัน แต่คำว่า "ไม่ได้ไปไหน" ของอากง ทำให้ผมหวนสู่ความทรงจำครั้งเก่ากับอากง และมองหาคุณค่าของตอนที่ยังมีชีวิตของคนรอบข้างที่สำคัญกับเรา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อนๆ

ผมจดจำอากงได้ในแบบที่ผมเห็นและในมุมมองต่างๆ จากคนที่รู้จักอากง โดยเฉพาะตอนที่ทำประวัติตระกูล ทำให้นึกขึ้นได้อีกว่า มุมมองของคนรอบข้างที่มีต่อกัน เราอยากให้ใครมีมุมมองหรือรู้สึกกับเราแบบไหน เราก็ทำและแสดงออกไปในแบบนั้น และในแบบที่เป็นตัวของตัวเองด้วย ไม่ใช่ว่าเพื่อให้ต้องแคร์สายตาของทุกคน แต่ที่จะบอกคือ คนรอบข้างเรา เช่น คนที่เราแคร์จะจดจำเราได้จากการกระทำของเราที่มีต่อพวกเขาและคนอื่นๆ ในตอนที่เรามีชีวิตอยู่เท่านั้น เพราะเราไม่รู้เลยว่า วันหนึ่ง เราอาจจะไม่อยู่ แบบเดียวกับในหนังเรื่อง Die Tomorrow (หรือเปล่า) แต่ Memories ของใครต่อใครไม่ได้หายไปด้วย

และจากธรรมเนียมเก่าแก่ของครอบครัวที่ผมไม่เคยคิดจะชอบหรือยอมรับเลย เพราะรู้สึกพิธีมากมาย ร้อน และดูล้าสมัยจัง เหมือนถูกบังคับให้ทำทุกครั้งไป อย่างในช่วงตรุษจีน วันเชงเม้ง และอื่นๆ ที่มีการเชิญผู้ที่ล่วงลับไปแล้วมารับประทานอาหารบนโต๊ะอาหารที่มีการจัดวางอาหารให้ท่านเหล่านั้นเรียบร้อยอย่างดี และอาจดีกว่าที่ผมได้กินซะอีก แต่หลังจากที่อากงไม่อยู่ให้ผมก่อกวน ผมถึงได้เข้าใจและยอมรับธรรมเนียมและประเพณีเหล่านั้นอย่างเต็มใจ ซึ่งส่วนหนึ่ง มันเป็นการให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้หวนรำลึกถึงคนที่จากไปแล้ว คุณงามความดีของพวกท่าน แสดงถึงความกตัญญู และการไม่ลืม

 

คนรอบข้างเราจะจดจำเราได้

จากการกระทำของเราที่มีต่อพวกเขาและคนอื่นๆ

ในตอนที่เรามีชีวิตอยู่เท่านั้น

 

ภาพสุดท้ายที่สุสาน

ภาพถ่ายอากงภาพสุดท้ายที่ผมถ่ายเอาไว้ได้อยู่ในวันเชงเม้งปี 2011 อากงกำลังเดินอยู่รอบๆ สุสานเก่าๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งจะมีป่าที่ดูรกร้างอยู่รอบๆ อากงเดินออกไปจากตรงสุสาน ก้าวเท้ายาวๆ แขนจะเหวี่ยงซ้ายขวาตามจังหวะการเดินหรือไม่ก็เอามือล้วงกระเป๋ากางเกง และในวันนั้นเอง อากงเดินไปไกลมาก วนไปวนมา เหมือนกำลังสำรวจพื้นที่รอบๆ แถวนั้นว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือเปล่า มันดูเป็นพื้นที่ที่อากงมีความทรงจำอยู่ด้วย จะว่าไป พื้นที่ตรงนั้นก็กลายเป็นความทรงจำของผมไปด้วยแล้วเหมือนกันนะ ที่แค่ได้เห็นอากงเดินไปเดินมาอยู่อย่างนั้น…..

เพราะสำหรับภาพถ่ายภาพสุดท้ายของอากง ผมว่ามันเป็นภาพ Signature ของอากงจริงๆ นะ สะท้อนภาพลักษณ์ของอากงในอิริยาบถต่างๆ ที่ผมจำได้ดี

สรุปผลการเรียนรู้และความเป็นอมตะ

ในที่สุด ผมทำงานประวัติตระกูลเสร็จ เป็นจำนวนกว่า 19 หน้า A4 พร้อม Mind Map คนในครอบครัวสายอากง ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของอากง และแม้ว่าจุดประสงค์ของการทำประวัติตระกูลที่อาจารย์ให้มานั้น คือ 'เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาประวัติศาสตร์จากเรื่องใกล้ตัวก่อนที่จะขยายไปสู่ประเด็นที่กว้างขึ้น ทำให้นักศึกษารู้ว่าตัวเองอยู่ ณ จุดไหนในบริบทโลกและเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์อย่างไร' ซึ่งผมไม่ได้ใส่ความทรงจำวัยเด็กระหว่างผมกับอากงที่ผมเล่ามาโดยสังเขปนี้ลงไปด้วย เพราะมันเป็นงานที่ค่อนข้างวิชาการ

แต่สำหรับผม ข้อดีมากกว่านั้นของการทำงานชิ้นนี้ คือ ผมได้ใช้เวลากับครอบครัวมากยิ่งขึ้น ได้เข้าใจมุมมองของผู้ใหญ่แต่ละคน ได้พูดคุยในเรื่องที่พวกเขาอาจไม่เคยได้เล่ามานานแล้ว ซึ่งทำให้พวกเขามีความสุขด้วย ผมเองก็เช่นกัน (ได้รู้ว่า ตอนที่อากงหนุ่มๆ อากงขี่ม้าด้วย และผมตื่นเต้นมาก)

เช่นเดียวกับคอนเซ็ปต์ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง 'Coco' (2017) ว่าไว้ 'ความทรงจำที่เราจำได้ขณะที่เขายังมีชีวิต จะทำให้เขายังอยู่ ไม่หายไปไหน'

และโดยไม่ต้องพึ่งพา 'ยาอายุวัฒนะ' อากงเป็น 'อมตะ' อีกครั้งในความทรงจำและเรื่องราวเหล่านี้…..

 

โดยไม่ต้องพึ่งพา 'ยาอายุวัฒนะ'

อากงเป็น 'อมตะ' อีกครั้ง

ในความทรงจำและเรื่องราวเหล่านี้

 

เก็บเกี่ยวและสร้างช่วงเวลาดีๆ กับคนรอบข้าง โดยเฉพาะครอบครัว เพื่อน และคนที่เรารัก.....

เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่เชื่อมโยงคนเราเอาไว้และผูกโยง 'คนเป็น' และ 'คนที่จากไปแล้ว' ไว้ด้วยกัน คือ ความทรงจำที่ฝากเอาไว้ให้แก่กันในช่วงเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ ความทรงจำ รวมถึงเทศกาลและธรรมเนียมเก่าแก่อย่างวันเชงเม้ง ยังเตือนให้เราได้รู้ว่า ถึงแม้คนที่เรารักจะจากไปแล้ว แต่ที่จริง พวกเขาก็ไม่ได้จากเราไปไหนไกล แต่พวกเขายังคงเป็นส่วนหนึ่งในตัวเราเสมอ และอาจเป็นภาพสะท้อนในตัวเราเองด้วย

"Even those who are gone, are with us as we go on, your journey has only begun. (ผู้ที่เคยล่วงลับลา ยังอยู่เคียงพวกเราพร้อมหน้า ออกเดินไปบนทางอันกว้างไกล)" จากเพลง We Are One

*** บันทึกไว้แด่วันที่ 19 ธันวาคม 2018 : วันครบรอบการจากไปและความเป็นอมตะของอากงปีที่ 7

 

About Author and Contributor

บทความแนะนำ
ประเภทบทความ
บทความล่าสุด
Follow Us
  • Facebook
  • Instagram
Services
bottom of page