ไม่คิดว่า 'ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา' จะมีค่าและมีความหมาย
หากเราลองหยุดมองรอบตัวสักนิดด้วยใจที่คิดบวก เราน่าจะได้เห็นแง่มุมที่ดีจากชีวิตรอบตัวมากขึ้นเป็นกอง หรือมากกว่าที่เป็นอยู่ หนังสือเล่มหนึ่งให้แง่คิดเรื่องนี้
ครั้งแรกที่ผมเจอหนังสือ 'ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา' เพียงแค่ชื่อ ผมก็อยากซื้อกลับไปอ่านแล้ว แต่ไม่ว่าอย่างไร ด้วยคำโปรยใต้ชื่อหนังสือที่เขียนว่า ‘มุมมองของหญิงสาวผู้มองเห็นความงดงามของชีวิต’ ผมจึงวางมันลง เพราะด้วยความคิดที่ว่า มันเป็นมุมมองของผู้หญิง มันคงจะ 'หญิ๊งผู้หญิง' ไม่น่าจะเข้ากับสไตล์เราแน่ๆ ทำให้ผมตัดใจจากหนังสือเล่มนี้อยู่เรื่อยไป แม้จะหยิบมันขึ้นมาดูทุกครั้งที่เห็นก็ตาม
จนวันหนึ่ง เพื่อนรุ่นพี่ที่ผมมักเรียกเธอว่า "เฟ-ริน" (เฟิร์น) ได้แนะนำผมอีกครั้งว่า 'ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา' เป็นหนังสือที่ดี ผมควรอ่าน ผมจึงลองตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนี้จากงาน a book fair ที่ Terminal 21 ซะที ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 แล้ว
พอได้หนังสือมา ผมกลับหมกมันไว้นานมาก ไม่มีเวลาอ่านเลย งานก็กองท่วมหัว จนเมื่อไม่นานมานี้ ผมเดินทางไปบ้านที่ต่างจังหวัด ผมจึงหอบมันไปด้วย
ทีแรกผมอ่านชื่อผู้เขียน ก็ไม่ได้อะไรมาก ก็คิดว่า เป็นคนๆ หนึ่งที่เป็นหญิงสาว 'จะเขียนหนังสือได้เรื่องได้ราวหรือเปล่าก็ไม่รู้' แต่เมื่อผมอ่านจบไปได้ประมาณ 2 บท ‘เอ่อ จริงๆ เธอก็เขียนดีนะ ยัยกมลเนตร เรืองศรี อะไรนี่’ อ่านได้ทั้งหญิงชาย
และพออ่านไปอีก ก็รู้สึกอีกว่า นี่เป็นงานเขียนที่ดีเล่มหนึ่งเลยนะ
จนผมอ่านจบ นี่เป็นงานเขียนที่ดีมากกกกกก เป็นงานเขียนที่ใช้ศิลปะของภาษาทั้งการเรียบเรียงที่ดี ไม่ใช่งานเขียนนิยายที่บรรยายอย่างละเอียดสุดๆ และไม่ใช่งานเขียนแบบวิชาการที่ค่อนข้างจะตรงๆ แต่เป็นการเรียบเรียงและใช้ภาษาที่ทำให้ผู้อ่านติดตาม (ไม่เล่นและไม่วิชาการเกินไป) ได้อารมณ์ของความซาบซึ้งใจ (ไม่ถึงกับต้องร้องไห้) โดยเฉพาะเนื้อหาที่ดีของการมองสิ่งที่อยู่รอบตัว สิ่งเล็กๆ ง่ายๆ ที่สะท้อนความมีคุณค่าและความหมายของชีวิตอันเรียบง่าย เวลา ความสุข ความรัก ความฝัน ความหวัง ความทรงจำ อุปสรรค ตลอดจนสังคมและวัฒนธรรม จากสิ่งเล็กๆ สู่คุณค่าที่ยิ่งใหญ่หากเราพยายามที่จะมองนอกเหนือจากมุมร้ายๆ ที่อาจมีอยู่แล้ว
แม้แต่ข้าวจานเดียวข้างทาง หรือเงิน 800 บาทที่ต้องใช้ทั้งเดือน หรือสมาร์ทโฟนที่พังยับ ยังสามารถก่อเกิดคุณค่าและช่วงเวลาอันดีที่มีความหมายได้ ซึ่งหนังสือเล่มนี้อาจทำให้คนที่อ่านเปลี่ยนมาเป็นคนมองโลกในแง่ดีเลยก็ได้ โดยที่ผู้เขียนไม่ต้องพูดหรืออธิบายออกมาตรงๆ ว่า คุณต้องทำยั่งงั้นยั่งงี้หรือยังไง เหมือนกับหนังสือแนวจิตวิทยาทั่วไปอื่นๆ (ซึ่งก็ดีเหมือนกัน แต่เนื้อหาต่างกันเท่านั้น)
จู่ๆ อาแหมะ (แม่ของข้าพเจ้าเอง) มองไปที่หนังสือและพูดขึ้นมาว่า "เอ้า นี่มันนักแสดงช่อง 3 นิ่ คนเขียนน่ะ เป็นตัวประกอบหลายเรื่อง อยู่ช่อง 3 มานานมาก ไม่ไปไหน (และขำ)"
บางที อาแหมะก็ชอบทำให้ข้าพเจ้านั้น ฉงนอยู่เรื่อยว่า 'เรื่องบางเรื่อง เป็นเรื่องที่กูเนี่ยน่าจะรู้จักมากกว่านะ เพราะใกล้ชิดกับงานพวกนี้มากกว่า แต่คุณอาแหมะนี่ก็ไม่รู้ไปรู้กับเขาได้ยังไง แบบนี้ ผมก็น่าจะรู้จักสิ (แต่ไม่เลย)' แต่จะว่าไป ในอดีต อาแหมะก็อยู่ในวงการทำเสื้อผ้าแห่งสยามสแควร์ที่โรงหนังสกาล่าอันคลาสสิกนั้น น่าจะเกี่ยวไหม เพราะเคยเห็นรูปเก่านางนั่งดูงานกับคุณพี่เบิร์ด-ธงไชย (ความทรงจำครั้งเก่าของนาง) นางคงจะติดตามข่าวในวงการอยู่ตลอด (มั้ง) ได้ข่าวว่านางชอบอ่านหนังสือด้วย (ข่าวนี้ได้มาตั้งแต่เด็กแล้วล่ะ)
"อ่านหนังสือแบบนี้ด้วยหรอ" อาแหมะถามอีก
"เอ้า ก็อ่านสิ แหมะไม่รู้ได้ไง อ่านตั้งเยอะแระ" ผมตอบแค่นั้น และอ่านต่อ.....
เอ่อ จะว่าไป นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ดีจากหนังสือเล่มนี้นะ สร้างความทรงจำฉันท์แม่ลูกให้รู้จัก-เข้าใจกันมากขึ้น (เพราะปกติจะทะเลาะกันบ่อย) แถมยังทำให้ผมได้ย้อนนึกถึงความรู้ความสามารถและความทรงจำดีๆ ของอาแหมะจากคนในยุควัฒนธรรมเก่า (หลังสงครามเย็นนิดนึง)
สุดท้ายนี้ ชื่นชมคุณกมลเนตร เรืองศรี มากๆ ที่สละเวลาเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาได้อย่างดีเกินกว่าที่คนอ่านบางคนมันจะคิดได้ตั้งแต่แรก (ผมเอง) ทั้งยังเป็นหนึ่งในนักแสดงไม่กี่คนที่เขียนงานออกมาได้ดีและงดงามเกินคาด
และสำหรับตอนนี้ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาที่ผมเริ่มอ่าน 'ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา' ขึ้นหิ้ง 'หนังสือที่ดีที่สุด' เล่มหนึ่งของผม (และใครอีกหลายคน) ไปเรียบร้อยแล้ว
About Author and Contributor
Comments