การพบรักเก่ากับการร้องขอรักใหม่กับหนังสั้น ขอเถอะปีนี้
![](https://static.wixstatic.com/media/de8101_97f03ba0994449ee93ca6ee23ac9d600~mv2_d_4083_2437_s_4_2.jpg/v1/fill/w_980,h_585,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/de8101_97f03ba0994449ee93ca6ee23ac9d600~mv2_d_4083_2437_s_4_2.jpg)
เร็วๆ นี้ เผอิญผู้เขียนมีโอกาสได้ดูหนังสั้นที่มีชื่อเรื่องว่า ‘ขอเถอะปีนี้ (THE BEGINNING OF TIME FOR LOVE AND HAPPINESS)’ เปิดเรื่องขึ้นมาคุณจิงจิง (นางเอก) ก็ขอพรให้เจอกับความรัก (อีกแล้ว) ในหัวพลางคิดไปว่า ‘มุกเดิมๆ อีกละ จะมาไม้ไหนอีกล่ะทีนี้’ ... แต่พอดูจบ ‘เอ่อ เฮ้ย มันดีมากว่ะหนังสั้นเรื่องนี้ แค่สิบกว่านาที’
![](https://static.wixstatic.com/media/de8101_75588598b23f4c0b95fcc2217d1742b2~mv2.jpg/v1/fill/w_720,h_1080,al_c,q_85,enc_auto/de8101_75588598b23f4c0b95fcc2217d1742b2~mv2.jpg)
ย้อนคิด หนังสั้นบางเรื่องก็ไปสุด บางเรื่องก็ไปไม่สุด แต่โดยมากแล้ว อย่างน้อย หนังสั้นจะแฝงแง่คิดที่ดีและชัดเจนอยู่ในตัว ทำให้คนดูรู้สึกว่า เนื้อเรื่องนั้นเป็นเนื้อเรื่องที่มีคุณค่า
และในบรรดาหนังสั้นที่ไปได้สุด ผู้เขียนขอยกให้หนังสั้นเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนั้น ด้วยเหตุผลแรก เป็นเหตุผลส่วนตัวของผู้เขียนที่มีความผูกพันธ์กับเนื้อหาที่เป็นธีมหลัก เหตุผลต่อมา บรรยากาศน่ารักๆ สบายๆ ของหนัง และสุดท้าย บทหนังดี มีความเป็นสากล ให้ความรู้สึกเหมือนดูภาพยนตร์ดีสนีย์ที่มุ่งเน้นไปที่ความดีในเชิงวัฒนธรรมและการเป็นครอบครัว
แม้จะเป็นเหตุผลส่วนตัวของผู้เขียน แต่มันก็ไม่ได้ผูกพันธ์หรือผูกโยงเพียงกับแค่ตัวผู้เขียนเท่านั้น แต่หนังยังผูกโยงกับคนในสังคมไทยอีกด้วย เช่น คนที่ชอบไหว้พระขอพรตามวัดไทยหรือศาลเจ้า/วัดจีน และโดยเฉพาะคนที่เติบโตในครอบครัวคนจีน/คนไทยเชื้อสายจีน จะเข้าถึงหนังสั้นเรื่องนี้ได้ง่ายมาก สำหรับผู้เขียน ผู้เขียนจะสัมผัสได้เลยว่า ตัวละครที่เป็นนางเอก เหมือนกับเราตอนเด็กๆ จริงๆ นะ เพราะเราจะรู้สึกอยู่บ่อยๆ เลยว่า พ่อแม่เรา อากงอาม่าเรา ทำตัวประหลาด โบรั่มโบราณ เคร่งครัด พูดนู่นพูดนี่ไปเรื่อยเปื่อย บางอย่างก็มาจากความเชื่อที่ฟังดูล้าหลัง ไหนจะประเพณีและธรรมเนียมที่ยิ่งดูเก่าแก่ไปอีก
แต่แล้ววันหนึ่ง เมื่อเราโตขึ้น เราถึงได้เข้าใจจริงๆ ว่าความเชื่อและประเพณีเหล่านั้นมีขึ้นเพื่อความสัมพันธ์ ความผูกพันธ์ และความเชื่อมโยงระหว่างคนในครอบครัว นับตั้งแต่บรรพบุรุษลงมายันรุ่นอากงอาม่าจนถึงรุ่นพ่อแม่เรารวมถึงญาติพี่น้อง ตลอดจนมิตรภาพกับเพื่อนๆ เป็นวัฒนธรรมที่ยึดโยงกับความเป็นจริงและสิ่งที่มีอยู่จริงทั้งในปัจจุบันและในอดีต พอเข้าใจแล้วเนี่ย มันก็ทำให้เรารู้สึกรักครอบครัวเรามากขึ้นเป็นกองเลย
โดยเฉพาะธีมสำคัญที่หนังสั้นเรื่องนี้นำเสนอ กลับกลายเป็นเรื่องความรักในครอบครัว แทนที่จะเป็นความรักแบบหนุ่มสาวตามที่หนังเปิดมาตั้งแต่แรก และมันก็เป็นความเชื่อสำคัญแบบจีนอีกเช่นกันว่า บรรพบุรุษที่จากเราไปแล้ว พวกท่านจะยังคงอยู่กับเราไปตลอด คอยปกปักษ์รักษาครอบครัว และบางครั้งก็จะดลบันดาลสิ่งที่ลูกหลานปรารถนาให้เกิดขึ้นจริงด้วย
![](https://static.wixstatic.com/media/de8101_74a920a391cc4c479567fabd3afa9eb9~mv2_d_1300_1940_s_2.jpg/v1/fill/w_980,h_1462,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/de8101_74a920a391cc4c479567fabd3afa9eb9~mv2_d_1300_1940_s_2.jpg)
หนังยังดำเนินเรื่องในบรรยากาศที่น่ารัก นำเสนอรูปแบบประเพณีและวัฒนธรรมออกมาได้แบบสบายๆ ง่ายๆ แปลกใหม่ และร่วมสมัยกับคนปัจจุบัน
บางครั้ง เราไปขอพรต่อพระเจ้า เทพเจ้า หรือสิ่งใดก็ตาม เราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไปทำไม ทำแล้วจะได้จริงหรือเปล่า หรือบางครั้ง เราเองก็อาจไม่ได้เข้าใจหรือรู้ซึ้งถึงความหมายของพระเจ้า เทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น เราอาจทำไปเพียงเพราะมีคนบอกว่า สิ่งนี้สิ่งนั้นมันศักดิ์สิทธิ์ สามารถดลบันดาลทำให้สมความปรารถนาได้ ฯลฯ แท้จริงแล้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น อาจมีความเชื่อมโยงกับเราก็ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพียงเราเห็นคุณค่าอย่างแท้จริงในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในความศรัทธาเหล่านั้น
สำหรับหนังสั้น ขอเถอะปีนี้ อาจไม่ใช่เรื่องของความปรารถนาที่จะพบรักใหม่เสียทีเดียว แต่มันกลับกลายเป็นการกลับไปพบรักเก่า (กับคนในครอบครัว) เช่นเดียวกับนางเอกของเรื่องที่ได้กลับไปพบรักเก่ากับอากงของเธอพร้อมๆ กับการได้พบรักใหม่ และซาบซึ้งไปกับวิถีของครอบครัวตัวเอง อีกทั้งหนังยังเสนอความหมายที่แท้จริงของประเพธีไหว้เจ้า ว่าด้วยความมีเมตตา ความศรัธทา และการสร้างสรรค์มิตรภาพ/ความสัมพันธ์
สุดท้าย ฝากไว้ สำหรับใครที่ยังไม่เจอกับความรักไม่ว่าจะปีนี้หรือปีไหนๆ ก็ขอให้อย่าได้เศร้าใจไป คุณยังมีรักที่แท้จากครอบครัวของคุณเอง และเป็นความรักที่ทรงคุณค่าไม่แพ้ความรักครั้งไหนเลย...
หนังสั้น ขอเถอะปีนี้ กำกับโดย รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ และนำแสดงโดย จิงจิง วริศรา ยู, ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ และเต้ย ธโนทัย เอื้ออมรรัตน์
About Author and Contributor
Comments