top of page

Creative Path ออกแบบกราฟิกทุกประเภทสำหรับธุรกิจของคุณ ไม่ว่าจะเพื่อการตลาดออนไลน์ กิจกรรมทางสังคม และอื่นๆ

คุยกับ 'ฟุย' และ 'ซีน่า' ทีมบรรณาธิการและกราฟิกดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ กับไลฟ์สไตล์ที่เร


มันน่าจะดีไม่น้อยเลยหากเราค้นพบตัวตนและสิ่งที่ตัวเองรักหรือชอบที่จะทำ โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการสอบเรียนต่อเข้ามหาวิทยาลัย หรือหางานที่โดนใจ ซึ่งเราหลายคนมักจะมีคำถามมากมาย เช่น เรียนต่อสายนี้แล้วจะไปทำงานอะไร เงินเดือนมากน้อยแค่ไหน งานคุ้มค่ากับเงินหรือเปล่า ชีวิตจะเป็นยังไง ฯลฯ บ้างก็ถูกครอบครัว หรือสภาพแวดล้อมกดดันให้เรียนหรือทำ เพื่อชีวิตในอนาคตที่ใครสักคนมุ่งหวังไว้ (ซึ่งอาจไม่ใช่ตัวเราเอง)

วันนี้ เราลองมาดูแนวคิดของทีมบรรณาธิการและกราฟิกดีไซน์เนอร์ สายอาชีพที่ค่อนข้างนอกกระแสจากกลุ่มอาชีพหลัก โดยคุยกับ 'ฟุย' - '黄邦辉 (Huang Bang Hui)' หรือ 'ธนพนธ์ รงรอง' หนุ่มเชื้อสายจีน-บรรณาธิการหนังสือรุ่นใหม่อายุน้อยที่ทำหนังสือติดอันดับ Best Seller หลายเล่มจากสำนักพิมพ์ Life Balance สวนกระแสของคำกล่าวที่ว่า "ยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย" และ 'ซีน่า' - '程婉榕 (Cheng Wan Jung)' สาวกราฟิกดีไซน์เนอร์และนักวาดรูปรุ่นใหม่ไฟแรงจากไต้หวัน ในทีมเดียวกัน ที่จะเล่าถึงแรงบันดาลใจของพวกเขาในการเรียนและการทำงานที่ผ่านมา รวมถึงการใช้ชีวิตอันเรียบง่ายในปัจจุบัน

ทำไมถึงได้มาทำงานด้วยกัน ทำงานกันเป็นยังไงบ้าง แนะนำกันหน่อย?

ฟุย: พอดี เห็นซีน่าเป็นคนที่มีไฟในการสร้างสรรค์งานออกแบบกราฟิกพวกนี้น่ะครับ และผมเองก็ทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานกราฟิกอยู่ด้วย และเรารู้จักกันก่อนอยู่แล้ว เป็นเหตุให้เราได้มาทำงานร่วมกันครับ ตอนนี้ เราก็เป็นทั้งเพื่อนและเพื่อนร่วมงานกัน และเธอก็ทำงานออกแบบได้ค่อนข้างดีซะด้วย งานเธอก็… จะว่าไงดีล่ะ…

ซีน่า: คือ หน้าที่หลักๆ กับฟุย ก็คือ รับงานจากฟุยค่ะ ฟุยจะมีแบบหรือ reference มาให้ดู แล้วลองออกแบบไป ฟุยจะมีคอมเม้นต์กลับมา บางครั้ง เขาก็แก้ให้เลยค่ะ อย่างเรื่องเลย์เอ้าท์ เขาก็จะชอบเอาไปทำเองบ้าง จริงๆ บอกให้ทำให้ก็ได้นะ (หัวเราะ)

ฟุย: มันนิดหน่อยเองอ่ะครับ ใจจริงก็ชอบงานออกแบบอยู่แล้ว แต่แน่นอนว่า ถ้าเป็นพวกการ์ตูนหรือวาดรูป ไม่แก้ไขให้ (หัวเราะ) อย่างงานล่าสุด ก็จะเป็นงานออกแบบหนังสือของสำนักพิมพ์ Life Balance ครับ และคิดว่าจะได้ทำกันต่ออีกหลายเล่มเลย

ซีน่า: คือ จริงๆ ตอนนี้ ต่างคนก็ต่างมีงานที่ตัวเองทำประจำอยู่แล้วค่ะ

เรียนอะไรกันมา ถึงได้มาทำงานพวกนี้?

ซีน่า: เรียนสายกราฟิกดีไซน์ค่ะ เพราะเป็นอะไรที่ชอบมานานแล้ว คือ ชอบวาดรูปมาตั้งแต่ตอนเด็กเลยค่ะ

ฟุย: ผมเรียนสาขาวิชาเอกประวัติศาสตร์มาครับ และวิชาโทเป็นภาษาอังกฤษและการสื่อสาร เอาตรงๆ ผมไม่ได้คิดว่าจะเรียนอะไรเพื่อไปทำอาชีพอะไรครับ เพราะที่เรียน มันไม่ใช่สายอาชีพอยู่แล้ว ตอนนั้น แค่คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองชอบเท่านั้น และผมมีใจกับมันมากน้อยแค่ไหน

แล้วตอนเรียนเป็นยังไงบ้าง สนุกหรือเครียดมากกว่ากัน?

ฟุย: ก็มีทั้งเครียดและสนุกปนๆ กันไปนะครับ เนื้อหาที่เรียนส่วนใหญ่ก็มีแต่เรื่องที่สนใจนะ ส่วนที่มีเครียดบ้าง ก็คือ การเรียนประวัติศาสตร์ มันต่างจากวิธีการเรียนในวิชาสังคมตอนมัธยมมาก เพราะนอกจากจะต้องจดจำแล้ว เราต้องคิดวิเคราะห์มากขึ้น ฝึกเรื่องการเขียน อ่านเอกสารมากขึ้น ทั้งชั้นต้นชั้นรองที่มีหลากหลายภาษา เรื่องที่ต้องศึกษาก็มีหลากหลาย ทั้งในเชิงวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ และอื่นๆ เยอะมากครับ บางที มันก็มีสัมพันธ์กันด้วย และแต่ละยุคสมัยก็มีบริบทต่างๆ กันไปอีก เราไม่สามารถละเลยส่วนไหนไปได้ ตามแต่กรณี ปวดหัวมากครับ โดยเฉพาะตอนแรกที่เรียน และที่สำคัญ เราไม่สามารถเอาตัวเองในปัจจุบัน ไปตัดสินอะไรผิด/ถูกในประวัติศาสตร์ได้เลย พูดง่ายๆ คือ มันเป็นงานศึกษาเชิงวิชาการและระเบียบวิธีวิจัย เราจะได้เรียนวิธีการเหล่านี้ในสาขานี้แน่นอน ทั้งมันยังฝึกวิธีคิด-วิเคราะห์ที่หลากหลายให้กับเรา ที่สำคัญ มันทำให้เขาเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในเชิงแนวคิดและการกระทำได้มากเลยล่ะ

ซึ่งทั้งหมดที่เรียนมานั้น ก็คิดว่าเป็นผลดีกับการทำงานในเวลาต่อมานะ แต่ถ้าจะให้พูดตรงนี้ มันจะยาวไป ไว้สำหรับคนที่สนใจจริงๆ ดีกว่า

ซีน่า: เหมือนกันค่ะ ทั้งเครียดและสนุก สนุกก็คือ เพราะชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ชอบออกแบบกราฟิกด้วย เวลาเราทำผลงานอะไรออกมาได้ เราก็จะรู้สึกภูมิใจกับตัวเอง มีความสุขกับมัน แต่ที่เครียดก็คือ งานศิลป์มันต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ บางทีในหัวนี่โล่งมาก เหมือนกระดาษเปล่าเลยค่ะ คิดไม่ออกจริงๆ ยิ่งถ้าโจทย์ยาก ก็จะรู้สึกกดดันมากขึ้น แต่เราก็ผ่านมันมาได้

พอจบมาก็รู้สึกดีใจนะที่สิ่งที่เราเรียนมา มันสามารถผลักดันเราออกมาได้ไกลพอสมควรเลยจนถึงตอนนี้

 

งานศิลป์มันต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ

บางทีในหัวนี่โล่งมาก เหมือนกระดาษเปล่าเลย

 

อะไรคือที่มาที่ไปหรือแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเรียนและทำงานในด้านนี้?

ฟุย: ต้องบอกว่า ความทรงจำวัยเด็กมีส่วนสำคัญมากต่อชีวิตในทุกวันนี้ครับ เพราะว่าที่ไปเรียนประวัติศาสตร์ ก็เพราะเบื่อเลข-วิทย์นั่นแหละครับ แถมชอบดูหนังแนวแฟนตาซีและอิงประวัติศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก จนเริ่มอ่านหนังสือแนวประวัติศาสตร์ในช่วง ม.ปลาย และหันไปเรียนทางด้านนี้เลย ทั้งที่คนในครอบครัวก็ไม่เห็นด้วยนัก แต่สุดท้าย พวกเขาก็เข้าใจนะ และระหว่างที่เรียน ผมก็คิดเรื่องงานไปด้วยว่า 'อะไรที่เราชอบและคิดว่าทำได้ เราจะทำ' ครับ

ผมชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียนงานเมื่อว่าง ชอบดูหนังมาก สามารถพากย์ตามหนังที่ชอบได้ ก็เลยคิดไปว่า เราน่าจะทำงานด้านสื่อไหม ตั้งคำถามกับตัวเอง ผมก็เลยลองไปฝึกงานในสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ก็รู้สึกว่า โอเคนะ พอเรียนจบมา ก็ทำงานช่วยที่บ้านไม่นาน แล้วสมัครมาทำงานเป็น บ.ก. เลย กลายเป็นงานที่ชอบด้วย มีความสุขที่ได้ทำ แถมยังได้ทำงานด้านกราฟิกดีไซน์ไปในตัว พองานเสร็จก็รู้สึกดีใจ ภูมิใจ แบบมันให้ความรู้สึกที่ดูมีคุณค่ากับทั้งคนทำและคนอ่านน่ะครับ

ประเด็น คือ คนเราทำอะไรก็ได้ครับ แค่ต้องประยุกต์ความรู้ความสามารถของตัวเองที่มีออกมาใช้ และเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วย

 

ประยุกต์ความรู้ความสามารถของตัวเองที่มีออกมาใช้

และเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วย

 

ซีน่า: ส่วนเราชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก จำได้ว่า ตอนประถม จริงจังกับการวาดรูปมากจนวาดรูปที่พื้น นอนที่พื้น เอากระดาษมาวาด 3 ชั่วโมง นี่จำได้แม่นมาก! คือ วาดเหมือนวาดรูปคนจริง แบบวาดตามคนจริง พอวาดเสร็จ ก็รีบวิ่งเอาไปให้ญาติๆ ดู แบบภูมิใจมากกก เพื่อที่จะบอกกับทุกคนว่า "ฉันวาดเหมือนนะ" และญาติๆ หลายคนก็ "เอ่อ วาดเหมือน"

ตั้งแต่วันนั้นมา ก็วาดรูปเรื่อยๆ ทำให้ต่อมา ก็สนใจเรียนด้านนี้ไปด้วยค่ะ ก็คิดเหมือนฟุยนะ ที่เพราะเป็นความทรงจำวัยเด็กด้วยที่ทำให้เรามาอยู่ในจุดๆ นี้ เราก็แค่ทำตามหัวใจของตัวเอง เป็นตัวของตัวเองที่ไม่ได้เดือดร้อนใคร แม้ว่ามันจะมีที่มาจากวัยเด็กที่ดูจะไร้เดียงสา เราก็เลยหันมาด้านกราฟิกดีไซน์ และพอไปทำงานจริง เราก็ได้ทำอะไรใหม่ๆ ด้วย อะไรที่ไม่เคยทำหรือไม่ถนัดก็ได้ทำทั้งนั้น ยากบ้าง ง่ายบ้าง มีอุปสรรคบ้าง ปรับตัวกันไป แต่ก็คิดเหมือนฟุยอีกที่ว่า เราต้องรู้จักประยุกต์ใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ

ฟุย: จริงๆ สายงานกับสายที่ผมเรียนมาไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรงครับ เพราะผมสนใจสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ มากกว่า และเชื่อว่า คนเราอยากจะทำอะไรก็ได้ ขอแค่มีใจกับมัน ฝึกฝนหน่อย

ซีน่า: จะว่าไป ตอนนั้น ที่บ้านก็อยากให้เรียนสายบัญชีค่ะ แต่ว่าก็คุยกับทางบ้านแล้วว่า ถ้าเรียนไปคงจะไม่ไหว แล้วก็ไม่ได้ชอบ เราไม่เหมาะกับด้านนี้ ทุกวันนี้ พยายามขยันทำงาน ดูแลตัวเอง พิสูจน์ความตั้งใจของตัวเองไปด้วย

 

ความทรงจำวัยเด็กที่ทำให้เรามาอยู่ในจุดๆ นี้

เราก็แค่ทำตามหัวใจของตัวเอง เป็นตัวของตัวเองที่ไม่ได้เดือดร้อนใคร

แม้ว่ามันจะมีที่มาจากวัยเด็กที่ดูจะไร้เดียงสา

 

ในด้านการทำงานเป็นยังไง?

ฟุย: คิดว่า เลือกทำงานตามความสนใจของตัวเอง หรือที่มีใจกับมันเป็นหลัก ทำมันได้ จากนั้น ก็ต้องขยันและอดทนด้วย แม้ว่างานที่เราเลือกและได้ทำ เราจะชอบแค่ไหนก็ตาม แต่เชื่อว่าเกือบทุกที่ งานมันมีอุปสรรคหรือความกดดันอยู่บ้าง ไม่จากงาน ก็จากคน บางทีก็เลยต้องพึ่งความขยันและอดทนด้วย ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด พลาดได้ ล้มได้ แต่ขอให้มีกำลังใจอยู่ก็พอ

ยิ่งตอนผมเข้าทำงานใหม่ๆ ผมก็เป็นคนมั่นใจตัวเองมากอยู่แหละครับ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็ค่อนข้างทำอะไรได้ดี คิดว่าจะทำทุกอย่างในงานได้ดีด้วย แต่คิดผิดไปมาก ผมพลาดอยู่หลายรอบเลย งานหนังสือเล่มแรกที่ผมทำออกมา ใช้เวลาเป็นปี บ้ามาก! ผมก็เลยต้องพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พยายามละเอียด โดยเฉพาะกับงานหนังสือ และต้องใจเย็นมีสติให้มากขึ้นครับ

เพราะจริงๆ งาน บ.ก. หรือเรียกอีกอย่างว่า 'Project Manager' ก็ถือเป็นส่วนสำคัญในองค์กรต่อการดำเนินการผลิตสินค้าให้ตรงกับกลุ่มตลาดเป้าหมาย และจัดการบริหารงานกับทุกคนในทีมที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องมีแผนงานที่ดี สลับทำงานได้หลายๆ โปรเจกพร้อมๆ กัน และต้องมีความเป็นผู้นำ ซึ่งยากกับผมอยู่ไม่น้อย ทั้งเรายังต้องคิดคอนเซ็ปต์ของงานแต่ละชิ้นทั้งในเชิงเนื้อหาที่มีคุณภาพและการออกแบบที่เหมาะสมเสนอกับองค์กร และประสานงานกับทีม ศึกษาตลาด ตรวจเช็กงาน คิดเลข และอื่นๆ ในทุกขั้นตอนระหว่างการผลิต

แต่เรื่องที่น่ากังวลและกดดันของงานประเภทนี้ คือ งานมีความละเอียดอ่อนมาก เนื้อหาและการออกแบบไม่ควรผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว เพราะหากผิดออกไป มันจะเกิดความเสียหายกับองค์กรได้ เพราะฉะนั้น หากใจร้อนมากไป งานอาจผิดพลาด แต่ถ้าใจเย็นมากไปงานก็จะช้า ว่าง่ายๆ ก็ 'ไม่ทันขาย' และถ้างานไหนที่ใช้หลายภาษา เราก็จะต้องระวังให้มากขึ้นอีกครับ ทำให้เราต้องใช้ความรู้ด้านภาษาเพิ่มขึ้นด้วย

ซีน่า: เราเลือกงานจากความสามารถและความชอบของตัวเองค่ะ พอเรียนจบ ก็มาทำงานกราฟิก ก็รู้สึกดีใจนะ งานก็มีความกดดันบ้างตามประสา แต่ว่างานก็ค่อนข้างชิวดีค่ะ อาจจะเป็นเพราะที่เราชอบทำงานด้านออกแบบอยู่แล้ว มันเป็นงานที่โอเคเลยนะ ค่าตอบแทนก็คุ้มค่าสำหรับการได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบด้วย ทำให้ไม่รู้สึกเครียดหรือกดดันมากเกินไป แต่ถ้ามีความกดดันขึ้นมา นั่นก็เพราะมันต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์งานในเวลาที่จำกัด มีกำหนด deadline ชัดเจน บางที มันก็จะคิดไม่ออก

วิธีแก้ไข คือ พยายามหา reference เยอะๆ มันจะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเราได้ค่ะ และที่สำคัญ คือ ต้องจัดลำดับงานตามความสำคัญให้ชัดเจน เพราะหากงานเยอะ เราจะได้ไม่รนเกินไปจนอาจทำอะไรไม่ถูก

พอมาตอนนี้ ก็ได้มาทำงานอีกงานหนึ่ง เพราะอยากลองทำงานใหม่ๆ ค่ะ คิดว่าตัวเองน่าจะทำได้ด้วย คือ เป็นผู้ช่วยผู้จัดการและล่ามภาษาจีนในบริษัท OPPO ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญต่อการสื่อสารในองค์กรมาก ความกดดันก็จะมาก เพราะต้องเป็นคนรับข้อมูลเยอะพอสมควรในภาษาที่แตกต่างกันและต้องสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน เพราะฉะนั้น ในงานนี้ ต้องจัดเรียงความสำคัญของแต่ละงานเช่นกัน และต้องเตรียมตัวให้ดีสำหรับการสื่อสารแต่ละครั้ง เพื่อไม่ให้เสียงานค่ะ

ทำให้เราคิดว่า คนเราไม่ได้เป็นไปตามแบบที่เราเรียนมาเท่านั้นนะ แต่เราเป็นเราตามแบบที่เราทำได้และมีความสนใจ

 

พยายามหา reference เยอะๆ

มันจะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเราได้

 

ทำงานพวกนี้มีเวลาพักผ่อนไหม ถ้าว่างแล้วทำอะไรบ้าง?

ซีน่า: อย่างที่บอกค่ะ งานกราฟิกค่อนข้างชิว มีกดดันบ้าง สำหรับเรานะ แล้วเวลาว่าง เราก็ชอบวาดรูปอีก เหมือนแบบมันทำให้เราได้พักผ่อน เราทำงานมาทั้งวัน ก็อาจจะมีเครียดบ้าง บางคนเวลาพักผ่อนอาจไม่ได้ทำอะไร ถ้าเป็นเรา วาดรูปทำให้มีความสุข สงบ และมีสมาธิกว่าเดิม และทำให้เราหายเครียดได้ เหมือนพอเราวาดไป มันมีอะไรออกมา เราก็รู้สึกดีขึ้น แฮปปี้ขึ้น พอใจที่ได้ทำชิ้นงานออกมาเป็นอะไรที่เราชอบ

คือ เพราะว่าถ้าอยู่ว่างเฉยๆ เหมือนเราไม่ได้ทำอะไรเลยค่ะ ก็จะทำสิ่งที่เราชอบ โพสต์ลงโซเชียลบ้าง เหมือนได้ระบายความเครียดออกไปผ่านรูปการ์ตูนที่วาดด้วย นอกจากนี้ ก็ดูหนังดูซีรี่ส์ด้วยค่ะ

ฟุย: ว่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีทำงานอื่นนอกจากงาน บ.ก. เช่น ทำเว็บ ทำ Content Marketing อ่านหนังสือ และดูหนังเป็นประจำครับ อยากใช้เวลาทำนู่นนี่ให้มากๆ ไม่ค่อยอยากนอน คิดเหมือนซีน่าที่ว่า บางที อยู่เฉยๆ มันก็เหมือนไม่ได้อะไร จะทำให้รู้สึกเบื่อด้วย ก็เลยทำงาน ถ้าเป็นวันเสาร์อาทิตย์ก็จะออกไปข้างนอก หาแรงบันดาลใจแบบใช้เงินไม่เยอะ กินง่ายๆ สบายๆ หรือไม่ก็อยู่กับครอบครัว

อย่างการดูหนัง ผมไม่ได้เน้นดูหนังที่เอามันส์อย่างเดียว แต่ดูเพื่อที่จะได้อะไรจากมันด้วย อย่างแรงบันดาลใจ หรือแง่คิดดีๆ ประมาณนี้ครับ

แต่เอาจริงๆ คนเรามันก็ควรจะพักผ่อนบ้างแหละครับ นี่พึ่งถูกน้องสาวที่บ้านคนหนึ่งบ่นมาด้วย

คิดว่างานและงานอดิเรกที่ทำอยู่มีคุณค่าหรือเปล่า?

ซีน่า: ก็คิดว่า มันมีคุณค่านะ ก็รู้สึกดี คือ แค่มีคนติดตามผลงานของเราในไอจี ชอบงานที่เราทำ เราก็ดีใจแล้ว เคยมีคนทักมาว่า ชอบสไตล์การ์ตูน น่ารัก และเคยมีคนขอเอาตัวการ์ตูนเราไปปั้นด้วย เราก็ให้เขาเอาไปใช้เลย ไม่ได้คิดมากเรื่องลิขสิทธิ์อะไร

และยังได้ออกแบบหนังสือกับฟุย ช่วยทำพรีเซ็นเทชั่นสวยๆ เสนอผลงานต่างๆ ก็รู้สึกว่า มันเป็นการออกแบบที่เราช่วยเขาทำให้งานสำเร็จ มันก็น่าจะมีคุณค่ากับคนรอบข้างเรานะคะ ทั้งคนที่ทำงานด้วยกัน และคนอื่นๆ ต่อกันไป อย่างหนังสือที่ทำออกไป ก็คิดว่าหนังสือมีคุณค่าในตัวมันเองอยู่แล้ว ถ้าคนอ่านชอบการออกแบบ เราก็ถือว่าประสบความสำเร็จในงานนั้นระดับหนึ่งแล้วล่ะค่ะ

ฟุย: เชื่อว่า หนังสือมีคุณค่าในตัวมันเองอย่างที่ซีน่าบอกครับ ผมว่า มันน่าจะมีคุณค่ากับทั้งคนทำและคนอ่าน สำหรับผม มันทำให้ผมได้ร่วมงานกับคนที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งนักเขียน ผู้ตรวจพิสูจน์อักษร กราฟิกดีไซน์เนอร์ พนักงานที่โรงพิมพ์ และอื่นๆ

และทุกครั้งที่ผมได้เห็นทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองเต็มที่ ผมก็จะรู้สึกดี รู้สึกเหมือนเราได้สร้างคุณค่าร่วมกันในผลงานแต่ละชิ้น และได้มาร่วมงานกัน นับเป็นช่วงเวลาที่ดี ไม่นับแค่เฉพาะงานหนังสือนะ บางครั้ง มันอาจเกิดขัดแย้งกันหน่อย แต่พองานเสร็จ ทุกอย่างก็โอเค

และอีกเรื่อง เป็นความคิดส่วนตัวตั้งแต่เด็กๆ แล้วครับ คือ ผมเป็นคนที่ชอบอะไรที่มันเก่าแก่ดูมีอารยธรรม หรือธรรมเนียมปฏิบัติเก่าๆ ที่ดีๆ มีคุณค่า เป็นพวกอนุรักษ์นิดนึง แต่ก็ชอบของใหม่ๆ ด้วย ตามเทคโนโลยีใหม่ๆ เสมอ โดยเฉพาะที่สามารถเอามาใช้กับชีวิต และพอได้ยินประโยคหนึ่งที่ชอบมากมาจนทุกวันนี้ จากภาพยนตร์เรื่อง The Last Samurai ตั้งแต่ปี 2003 ที่ว่า "ข้าเป็นของนักรบผู้ที่เชื่อมวิถีแบบเก่าและแบบใหม่ (I belong to the warrior in whom the old ways have joined the new.)"

ก็เลยเปรียบไปว่า เนี่ยจริงๆ ตอนนี้ คนอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ น้อยลง สิ่งที่เราทำก็เป็นแบบเก่าน่ะสิ แต่ก็ยังไม่ถึงกับล้าสมัย แต่ผมก็เห็นแล้วว่า หนังสือที่เราช่วยกันทำออกไป มันขายได้ มีลูกค้าติดตาม จนติดอันดับ Best Seller แค่นี้ ผมก็รู้สึกดีใจเล็กๆ แล้วว่าได้รักษาโลกเก่าในโลกใหม่เอาไว้ได้ ซึ่งเป็นความคิดขำๆ ของตัวผมเองนะครับ (หัวเราะ) แต่ก็ภูมิใจกับมัน

ซีน่า: ใช่ค่ะ ฟุยจะดูกลางๆ ในเรื่องนี้ ระหว่างของใหม่กับของเก่า (หัวเราะ)

 

ข้าเป็นของนักรบผู้ที่เชื่อมวิถีแบบเก่าและแบบใหม่

I belong to the warrior in whom the old ways have joined the new.

 

ทำไมหนังสือที่ทำถึงติดอันดับ Best Seller บ่อยๆ?

ฟุย: ขอแบบกว้างๆ แล้วกันนะครับ ก็เพราะเราศึกษาตลาด พยายามทำความเข้าใจผู้อ่านที่เราอยากให้เขาอ่าน การร่วมมือกันทำงานของทีมงาน คือ ทุกคนใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะซีน่าที่แก้ไขงานอยู่หลายรอบเลย เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด

ทุกวันนี้ มีชีวิตยังไง ดูแลตัวเอง แบบใช้เงินยังไงด้วย?

ซีน่า: เพราะเราเป็นคนชอบอะไรง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่ก็คิดมากๆ ได้กับเรื่องที่จำเป็นและที่สนใจ พูดง่ายๆ ก็คือ ชอบชีวิตที่เรียบง่าย คือ เราใช้เงินค่อนข้างประหยัดนะ เพราะต้องดูแลตัวเองทุกอย่าง บันทึกรายรับรายจ่ายก็ทำด้วย และก็ต้องมีเงินเก็บทุกเดือน คือ ดูภายนอก จะดูเป็นคนใช้เงินเก่งค่ะ แต่คนที่สนิทๆ จะรู้ว่า เราค่อนข้างประหยัดนะ

เพราะถ้าไม่เก็บ เราไม่รู้ว่าวันข้างหน้าอาจจะเจอปัญหา อาจจะต้องใช้เงิน แล้วถ้าไม่มีจะลำบาก และจริงๆ คิดว่า ต่อให้ประหยัด เราก็มีความสุขได้นะ หากิจกรรมง่ายๆ ทำ ไม่ต้องใช้ตังเยอะ ไม่ต้องกินของแพงๆ ตลอดก็ได้ สำหรับเรานะ

จริงๆ ตอนที่เรียนอยู่ เราก็ใช้เงินเก่งมากเหมือนกัน ฟุ่มเฟือยกับกิน เที่ยว อยู่ที่พักแพงๆ เพราะตอนนั้น ยังไม่ได้หาเงินเอง ที่บ้านให้ตลอด คือ พูดง่ายๆ ว่า ไม่เห็นค่าของเงิน แต่พอเราออกมาทำงานเอง ถึงได้รู้ว่า เรามีค่าใช้จ่ายเยอะ ต้องดูแลตัวเองด้วยทุกอย่าง กว่าเงินจะหามาได้ก็ไม่ใช่ง่ายๆ

ฟุย: ฟังดูแล้ว ซีน่าก็ไม่ได้ง่ายๆ เท่าไรนะ (หัวเราะ) แต่เห็นด้วยนะครับ แนวคิดดีแบบลอกเรามาอ่ะ (หัวเราะ) ล้อเล่นๆ สำหรับผม อย่างที่บอกไปว่าชอบทั้งวิถีแบบเก่าและแบบใหม่ จึงขอเปรียบว่า วิถีแบบเก่าเป็นแนวคิดของครอบครัว และวิถีแบบใหม่เป็นการอยู่ในสังคมส่วนใหญ่ที่ค่อนข้างฟุ้มเฟ้อในยุคปัจจุบัน เอาจริงๆ ผมเป็นทั้งสองแบบครับ จะออกไปในแนวที่ค่อนข้างใช้เงินเก่งซะด้วยซ้ำ แต่เพื่อนๆ มักจะมองว่าผมประหยัด หรือ “งก” ที่เรียกๆ กัน เพราะแค่ผมไม่ค่อยใช้เงินไปกับของกินแพงๆ (หัวเราะ) บางที ผมก็ไปเที่ยวที่ต่างๆ บ้าง ใช้เงินไปก็มากเหมือนกัน

แต่ส่วนตัว คือ ผมก็พยายามจะทำให้ได้ตามวิถีแบบเก่านะ เพราะชื่นชมแนวคิดของครอบครัวคนจีนที่สอนให้เราประหยัดอดออม อยู่ง่ายๆ กินง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องหาความสุขโดยใช้เงินตลอดเวลา บางวัน ผมเคยพกเงินไปทำงานแค่วันละ 100 บาท ใช้จ่ายที่อโศกและเอกมัยอยู่เป็นประจำในระยะหลัง เพราะเป็นที่ทำงาน ซึ่งมันก็อยู่ได้นะ (หัวเราะ)

ที่จริง ผมว่า มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับที่ว่าแต่ละคนหาเงินได้มากหรือน้อยซะทีเดียว แต่ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของแต่ละคนมากกว่า ผมเกิดมาในครอบครัวคนจีนและมีแนวคิดแบบจีนมากๆ ผมก็มักจะได้ยินตัวอย่างจากอากง (ปู่) และอาปา (พ่อ) ที่มักเล่าถึงการหาและใช้เงิน เช่น คนที่หาเงินได้จำนวนมาก แต่ก็มีหนี้สินที่ไม่จำเป็นมากมาย แต่กับคนบางคนที่หาเงินได้น้อยนิด เขากลับมีชีวิตที่ดีขึ้นมาก ไม่มีหนี้สินที่ไม่จำเป็น แต่พวกเขาก็ยังมีความสุขได้นะ โดยที่ไม่ต้องใช้เงินมากๆ ซึ่งตอนเด็ก ผมค่อนข้างจะกบฏกับแนวคิดของครอบครัวมากเลยครับ แต่ตอนนี้เข้าใจแล้ว

 

ต่อให้ประหยัด เราก็มีความสุขได้นะ

ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของแต่ละคนมากกว่า

 

มาถึงวันนี้ รู้สึกเสียดายไหมที่เรียนหรือที่ทำงานมา แบบไม่ได้เลือกเรียนในสาขาที่เป็นสายอาชีพหลัก?

ซีน่า: ไม่เสียดายเลย รู้สึกดีใจด้วยซ้ำที่ได้เป็นตัวของตัวเอง อาจจะมีแรงกดดันจากคนรอบข้างบ้าง แต่มันก็เป็นชีวิตของเรา เรารู้ดีที่สุดว่าเราเก่งด้านไหนถนัดด้านไหน เราก็ไปทางนั้น จะได้พิสูจน์ตัวเองกับคนรอบข้างและครอบครัวด้วย

ฟุย: ทุกวันนี้ก็พอใจในงานที่ทำและชีวิตที่เป็นอยู่ ถ้าไม่ได้เรียนหรือทำอะไรที่ได้ทำมาตลอดนี่ เราคงจะไม่ได้เป็นเราในทุกวันนี้ ความคิดผมหลายอย่างมาจากตอนที่เรียนประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งผมคิดว่า มันก็มีส่วนช่วยได้ดีในชีวิตตอนนี้ครับ

สิ่งที่เราเรียนมา ทั้งของผม ซีน่า และของใครๆ คิดว่ามันสามารถต่อยอดได้ทั้งนั้นครับ ขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคลมากกว่า แม้แต่คนที่เรียนไม่จบยังทำอะไรหลายอย่างได้ ดูอย่างพี่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หรือตาเฒ่าแก่น้อย หรือหลิวปัง (จักรพรรดิฮั่นองค์แรก) ก็ได้

คิดยังไงกับสังคมไทยที่พ่อแม่ หรือคนรอบข้างอยากให้เราเรียนแบบนั้นทำงานแบบนี้?

ฟุย: ก็คิดว่า มันเป็นบริบททางความคิดแบบดั้งเดิมที่ยังมีอยู่ในสังคมไทยอ่ะครับ ที่พ่อแม่หรือใครต่อใครมีความคาดหวังให้เราเรียนอันนี้ เพื่อทำงานอย่างนี้ โดยเฉพาะงานข้าราชการ คือ ผมไม่ได้หมายความว่างานข้าราชการไม่ดีนะ แล้วไม่ใช่ว่าในครอบครัวผมจะไม่กดดันผมแบบนั้น

แต่คิดว่า เด็กๆ เราเกิดมาก็มีความใฝ่ฝัน มีสิ่งที่ชอบอยากจะทำนู่นนี่ แล้วมันก็จะส่งผลต่อสิ่งที่เราอยากจะเรียนหรืออยากจะทำในอนาคตด้วย บางคนเรียนทั้งที่ไม่ได้มีใจ แต่เพื่อให้พ่อแม่ดีใจ ก็ถือเป็นสิ่งที่ดีและมีคุณธรรมนะ แต่สำหรับผมก็จะรู้สึกเสียดายตัวตนของคนๆ นั้นนิดนึง ซึ่งคนๆ นั้นก็อาจจะรู้สึกกดดันอยู่ไม่น้อยเลย

และบางที ผู้ใหญ่อาจตัดสินเด็กคนหนึ่งว่าแย่ เพียงเพราะเด็กคนนั้นทำคะแนนวิชาเลขได้ไม่ดี แต่เขาทำคะแนนวิชาอังกฤษได้ดีกว่า หรือเด็กอีกคนที่ทำคะแนนวิชาเลขได้ดี แต่ตกวิชาอังกฤษ ก็มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผมว่าคนเราเกิดมาต่างกัน ถนัดไม่เหมือนกัน ทำให้แนวทางการเรียนและการทำงานก็ต่างกันไปด้วย

เป็นไปได้ ปล่อยให้พวกเขาคิดและเลือกเอง จะทำให้พวกเขาโตขึ้น เข้มแข็งขึ้น ดูแลตัวเองได้ และเข้าใจตัวเองด้วยครับ

 

ให้พวกเขาคิดและเลือกเอง จะทำให้พวกเขาโตขึ้น

เข้มแข็งขึ้น ดูแลตัวเองได้ และเข้าใจตัวเองด้วย

 

มีมุมมองต่อเพื่อนร่วมงานตรงหน้านี้แบบไหน?

ฟุย: สั้นๆ ก็คือ ซีน่าเป็นคนขยันนะครับ รู้หน้าที่ รับผิดชอบงานและตัวเองได้ค่อนข้างดี เท่าที่รู้นะ มีความคิดสร้างสรรค์ จริงจังกับการทำงาน และยังเป็นตัวของตัวเอง คนที่เข้มแข็ง อดทนต่อแรงกดดันได้ดี กระตือรือร้นต่อกิจกรรมหรืองานใหม่ๆ และอะไรอีกล่ะ ใจเย็นม่ะ ดูจากภายนอกนะ รู้สึกจะชมเกินไปแล้วเนาะ ใช่ม่ะ? มันจะเกิน 'สั้นๆ' ไปแล้วอ่ะ (หัวเราะ)

ซีน่า: ฟุยเป็นคนแปลกนะ ทีแรกที่รู้จักกันเป็นความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูก ด้วยภายนอกนี่ดูไม่ค่อยออกว่าเป็นคนยังไง จนได้ทำงานด้วยกัน ถึงรู้ว่า ฟุยเป็นคนมีระเบียบและละเอียดมากกับงาน พอรู้จักกันมากขึ้น ก็ได้รู้ว่าเป็นคนที่ทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่าที่คิด นี่เด็กจบประวัติศาสตร์จริงหรอ (หัวเราะ) ก็คิดว่าเป็นคนคล้ายๆ กับเรา ต้องรู้จักกันมากๆ แล้วจะรู้ว่ามีอะไรที่น่าค้นหาอีกเยอะ สำหรับเรานะ และฟุยก็เป็นคนอารมณ์เย็น คิดบวกกับญาติพี่น้อง เพื่อน และเพื่อนร่วมงานด้วยค่ะ

คำถามสุดท้าย คิดว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่นหรือเปล่า?

ฟุย: คิดว่า ทุกคนแตกต่างกันอยู่แล้ว ไม่มากก็น้อย อยู่ที่ว่าเราจะเป็นตัวของตัวเองมากน้อยแค่ไหน หรือพยายามเป็นคนอื่นหรือเปล่า ไม่นับที่อยากเป็นแบบไอดอลนะ เราสามารถเป็นแบบไอดอลในแบบของตัวเองได้ อย่างบางทีผมก็คิดว่าตัวเองเป็น ‘โอบีวัน’ เจได (ตัวละครในสตาร์วอร์ส) หรือไอดอลคนอื่นๆ … บ้าไปอีก (หัวเราะ) มันขึ้นอยู่กับการกระทำของเราในแต่ละครั้ง เพราะเราสามารถเป็นแบบไอดอลหลายๆ คนได้ แต่นั่นแหละ คือ ตัวเรา

ซึ่งไอดอลของผมส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวกับหนังและหนังสืออ่ะครับ อย่างพวกคนทำหนัง ผู้กำกับ นักเขียน กราฟิกดีไซน์เนอร์ และ บ.ก. ด้วยกันเอง

ซีน่า: จริงๆ เราก็มีไอดอลนะ เป็นนักวาดรูป เจ้าของเพจที่ชื่อ ‘Cherng’ ที่มีผู้ติดตามในเฟซฯ ตอนนี้เป็นล้านแล้ว เราชอบตัวการ์ตูนที่เป็น Signature ของเขา เราตามเขามาตั้งแต่เขายังไม่ดังค่ะ เขาทำสินค้าน่ารักๆ ออกมาขายเยอะแยะเลย และเขาก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราทำงานออกแบบวาดรูปด้วย แล้วตอนนี้ เราก็มีตัวการ์ตูนที่เป็น Signature ของเราแล้ว เป็นตัวเอเลี่ยน ที่มีสัดส่วนแปลกๆ แต่ก็น่ารักนะคะ (หัวเราะ)

ส่วนถ้าถามว่าแตกต่างแบบไหน สำหรับเรา เราก็เป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูง มีความเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิดต่างและนำเสนอออกมาได้ในแบบที่อยากจะสื่อ คนอื่นๆ อาจมองว่าเป็นคนที่เข้าถึงยาก แต่ว่าแม้จะเป็นแบบนั้น เราก็เข้ากับคนอื่นได้ไม่ยากนะ เพราะเราจะเป็นคนที่รับฟังได้เสมอ แล้วก็คิดว่า คนเราก็แตกต่างกันอย่างที่ฟุยพูด คงไม่มีใครเหมือนกันเต็มร้อย

ฟุย: ชีวิตเราก็คนธรรมดาๆ นี่แหละครับ เป็นเด็กๆ ที่พยายามจะเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด และรับผิดชอบชีวิตตัวเองให้ดีที่สุด มีความสุขเท่าที่จะเป็นไปได้ อาจจะไม่เหมือนใครไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าแตกต่างจากคนอื่นเช่นกันครับ เพราะเราทุกคนก็ต่างแตกต่างกัน

ซีน่า: และที่คุยกันมาทั้งหมดนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า แนวคิด วิถีชีวิต การเรียน การทำงานของเราจะดีกว่าหรือถูกต้องกว่า หรือแตกต่างไปจากของใครๆ นะคะ คิดว่า เราทุกคนต่างเรียน ทำงาน และมีชีวิตตามแบบของตัวเอง มีทั้งเหมือนและแตกต่างกันไป คงไม่มีอะไรผิดหรือถูกซะทีเดียว มันขึ้นอยู่กับบริบทและแนวทางของแต่ละคนด้วย โดยเฉพาะเมื่อเราค้นพบตัวเองค่ะ

ฟุย: อย่างถ้าคนที่สนิทๆ กับเรา จะรู้เลยว่าผมมันเป็นคนที่ธรรมดามากๆ และยังชอบทำตัวเหมือนเด็กไม่รู้จักโต อายุ 8 ขวบ ส่วนซีน่าก็ดูดุอยู่บ่อยๆ จริงม่ะ (หัวเราะ) …

 

เป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด และรับผิดชอบชีวิตตัวเอง

ให้ดีที่สุด มีความสุขเท่าที่จะเป็นไปได้

อาจจะไม่เหมือนใครไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าแตกต่างจากคนอื่น

 

จบแล้ว...

เป็นยังไงกันบ้าง ไม่น่าเชื่อว่า คำพูดและแนวคิดดีๆ เหล่านี้ จะมาจากคนวัยทำงานอายุแค่ 25 ปี (ในปี 2017) ทำให้เห็นแล้วว่า คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่เรียนและทำงานหนัก แต่ก็มีไลฟ์สไตล์แบบเรียบง่ายที่มีความสุขได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองมากมาย นอกจากนี้ อีกเรื่อง คือ วิถีแบบเก่านั้น ไม่ได้แปลว่า มันล้าสมัยเสียทีเดียว มันยังคงใช้ได้ดีในโลกยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น บทสัมภาษณ์นี้น่าจะทำให้ผู้อ่านได้คำตอบหรือแนวคิดบางอย่างไปคิดเล่นๆ เพิ่มเติม และประยุกต์ใช้ได้ไม่มากก็น้อย ขอให้ทุกคนมีกำลังใจเรียนและทำงาน ค้นหาตัวตนของตัวเองให้พบ เชื่อว่า ไม่ยากเกินไปอย่างแน่นอน และลองย้อนกลับไปดูว่า เราทำความทรงจำวัยเด็กหล่นหายไปหรือเปล่า บางที นั่นอาจจะเป็นตัวตนของเราก็ได้ และหากพบแล้ว คุณอาจจะเป็นได้มากกว่าที่ตัวคุณเคยเป็นมา…

*** ปัจจุบัน (2017) 'ฟุย’ เป็น บ.ก. ในสำนักพิมพ์ Life Balance คลังความรู้ด้านภาษาศาสตร์และคู่มือเรียน/เตรียมสอบ และนักการตลาดและกราฟิกดีไซน์เนอร์ของ Creative Path

ส่วน 'ซีน่า' ปัจจุบัน เป็นผู้ช่วยผู้จัดการและล่ามภาษาจีนในบริษัท OPPO ศูนย์ใหญ่ในไทย และกราฟิกดีไซน์เนอร์ที่ทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์ Life Balance และในทีม Creative Path

 

Social Media ที่เกี่ยวข้อง

Facebook

Instagram

 

 

ขอบคุณสถานที่: Nikko Café ซอยเอกมัย 12

 

About Author and Contributor

บทความแนะนำ
ประเภทบทความ
บทความล่าสุด
Follow Us
  • Facebook
  • Instagram
Services
bottom of page